10/02/2013

สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม

ถาม : หนูไปบูชาพระของหลวงปู่เณรคำมา จะทำอย่างไรกับพระนั้นดีคะ ? ตอบ : บูชาไว้สิจ๊ะ พระก็คือพระ..! คำว่า พระ แปลว่า ดีเลิศประเสริฐศรีอยู่แล้ว เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่าไปนึกถึงเณรคำสิ..! แค่นี้ก็กำลังใจตก ถ้าเป็นสมัยโบราณออกศึกก็กลายเป็นศพถมสนามไปนานแล้ว สมัยโบราณเขามีแค่ว่านยา เขายังรอดมาไม่รู้ตั้งกี่สนาม เพราะใจเขายึดมั่น ส่วนเราขนาดเป็นพระแท้ๆ หมดความนับถือ กำลังใจไม่ยึดมั่น แล้วจะไปปลอดภัยอีท่าไหน ? เรื่องของตัวบุคคล เราอาจจะยึดผิด ฉะนั้น..ท่านถึงให้ยึดหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในส่วนที่เป็นนามธรรม คือคุณความดีของท่าน ไหว้เมื่อไรก็ถึงเมื่อนั้น ไม่ว่าเณรคำหรืออาตมาก็เหมือนกันนั่นแหละ เป็นแค่รูปแค่นามแค่ธาตุ ๔ เหมือนกัน ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังเหมือนกัน ถ้าเรายึดผิด พูดง่ายๆ ว่าวางกำลังใจผิดเอง ถ้าจะยึดจริงๆ ยึดความดี พระสงฆ์ท่านเป็นสุปฏิปันโน...ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน...ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน...ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม สามีจิปฏิปันโน...ปฏิบัติชอบแล้ว พระพุทธเจ้า ท่านถึงสอนไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ใช่ใครเขาว่าอะไรที่ไหนดี เราก็ตื่นไปโดยที่ไม่ได้พิจารณา ถึงเวลาเราเองพอเห็นว่าไม่ดีจริง ก็เสียกำลังใจอีก ถ้าตอนกำลังใจตก กำลังเศร้าหมองอยู่ เกิดตายตอนนั้นก็ซวยอีก ถ้าเรายึดในคุณพระรัตนตรัยที่เป็นพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณจริง ๆ อย่างไรก็ไม่พลาดอยู่แล้ว เมื่อวานนี้มีโยมมาถามว่า ถ้าอยู่ในที่เลือกเนื้อนาบุญไม่ได้ ก็ทำบุญไม่ได้เลยสิ ? อาตมาบอกว่า ถ้าโง่ก็ทำบุญไม่ได้ ถ้าฉลาดก็ ถวายเป็นสังฆทาน ต่อให้เป็น อาจารย์นิกร อาจารย์ยันตระ ท่านภาวนาพุทโธ หรือเณรคำ มานั่งรับสังฆทานพร้อมกันก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราตั้งใจเป็นสังฆทาน คนรับเป็นเพียงตัวแทนสงฆ์ อานิสงส์ของเราได้เต็มร้อยอยู่แล้ว ใน ปฐมสมโพธิกถา อันตรธานปริวรรต กล่าวถึงการเสื่อมสูญของพระศาสนา ว่าช่วงท้ายก่อน ๕,๐๐๐ ปีเล็กน้อย เพศพระจะหายไป เหลือเพียงผ้าเหลืองพันข้อมือ หรือผ้าเหลืองคล้องคอไว้นิดหนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ให้ไปดูที่ประเทศญี่ปุ่น พระญี่ปุ่นใส่ชุดสากล มีแถบติดคออยู่หน่อยให้รู้ว่าเป็นพระเท่านั้น ท่านบอกว่าต่อให้เพศพระเสื่อมไปถึงขนาดนั้นก็ตาม ถ้าถวายเป็นสังฆทานตั้งใจอุทิศเฉพาะเจาะจงแก่สงฆ์ ก็มีอานิสงส์เท่ากัน สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ) ณ บ้านวิริยบารมี ต้นเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ by: Motanaboon.Com

No comments: