8/25/2009
ทำสมาธิไม่ถูกหลักจึงเพี้ยนไปไม่รู้ตัว : พระอาจารย์ทูล
การทำสมาธิ ถ้าไม่มีความเข้าใจในการทำอาจเกิดเป็นมิจฉาสมาธิ คือความเข้าใจผิดไปได้ ทำให้เกิดวิปริตเป็น สัญญาวิปลาส เป็นวิปัสสนูปกิเลสโดยไม่รู้ตัว ดังได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆว่า การทำสมาธิที่มีจิตเพี้ยนไป เมื่อจิตวิปริตเพี้ยนไปแล้ว ความรู้เห็นที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ ก็เพี้ยนไปทั้งหมด อาการอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะการทำสมาธิไม่มีปัญญาขั้นพื้นฐาน จึงทำให้จิตเกิดความเข้าใจผิดไปได้โดยไม่รู้ตัว
ฉะนั้นผู้เขียน (พระอาจารย์ทูล) ขอชี้แนะเกี่ยวกับการทำสมาธิไว้ในที่นี้สัก 3 ประการ เพื่อให้ท่านได้เข้าใจ
1. การทำสมาธิให้ถูกต้องตามองค์มรรคต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาความเห็นชอบเป็นพื้นฐาน และทำความเข้าใจว่า หลังจากการทำสมาธิแล้ว ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นในหลักสัจธรรมทุกครั้ง ยิ่งจะมีความตั้งใจเพื่อมรรคผลนิพพาน ก็ยิ่งมีกำลังใจในการปฏิบัติธรรม และอย่าปักใจเชื่อในความรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตโดยไม่มีเหตุผล อาจเป็นกลลวงของกิเลสออกมาหลอกจิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปได้ ฉะนั้นจึงต้องมีปัญญาเป็นเครื่องรู้รอบอย่าเผลอตัว
2. การทำสมาธิธรรมดา ที่ไม่มีปัญญาในองค์มรรคเป็นพื้นฐาน ผู้ทำสมาธิในขั้นนี้ อย่าตั้งใจทำสมาธิเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม อย่าตั้งใจทำสมาธิเพื่อมรรคผลนิพพาน อย่าตั้งใจทำสมาธิ เพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์ เพียงนึกคำบริกรรมดังเราทำกันอยู่ในปัจจุบัน จิตจะมีความสงบมาก สงบน้อย จิตจะมีความสุขมากสุขน้อย ก็เป็นผลที่จิตมีความสงบจากการทำสมาธิเท่านั้น ให้เป็นแบบฤๅษีเขาทำกัน ปัญหาของจิตที่เพี้ยนไปก็จะไม่เกิดขึ้น
3. การทำสมาธิ ที่ไม่มีปัญญาในองค์มรรคเป็นพื้นฐาน มีแต่ความตั้งใจทำสมาธิอย่างเข้มแข็ง มีความจริงจังเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการทำสมาธิแต่อย่างเดียว โดยไม่มีปัญญาความรู้รอบความฉลาดแฝงอยู่ที่จิต มีแต่กำหนดสติทำแต่สมาธิ ตลอดไปโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาในหลักสัจธรรม เรียกว่าการทำสมาธิล้วน ๆ นั่นเอง เดินจงกรมก็เดินทำสมาธิ นั่งก็นั่งทำแต่สมาธิ ไม่มีช่องระบายทางปัญญาเลย ความตั้งใจก็เด็ดเดี่ยว เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ ใช้สติสมาธิบีบให้กิเลสตัณหาอวิชชาให้หมดไปจากจิตอย่างจริงจัง แต่จิตไม่มีปัญญาความฉลาดขาดจากเหตุผล ไม่มีความรอบคอบในตัวเอง กิเลสสังขารจึงได้ใช้กลหลอก ให้จิตเกิดความหลงผิดอย่างไม่รู้ตัว บางทีก็เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น หรือเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตอย่างชัดเจน
จิตที่ไม่มีความฉลาดรอบตัว จิตก็เกิดความหลงเชื่อตามความรู้นั้นๆ อย่างฝังใจ เมื่อจิตปักใจเชื่อแล้ว กิเลสสังขารก็เปลี่ยนฉากแสดงขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง มีทั้งถูกทั้งผิด ในที่สุดก็ผิดอย่างเดียว จิตจึงมีความรู้ผิด ความเห็นผิด เพี้ยนไปอย่างง่ายดาย เช่นบางท่าน ในขณะที่จิตมีความสงบเป็นสมาธิ อาจมีความรู้แฝงขึ้นมาที่จิตอย่างชัดเจน จะกำหนดถามในแง่ธรรมต่างๆ ก็มีความรู้ตอบรับอย่างเป็นจริงเป็นจัง อยากรู้อะไรก็กำหนดถามลงไปในจิต แล้วก็มีความรู้ตอบรับขึ้นมา
แล้วก็เกิดความสำคัญในตัวเองว่า ธรรมได้เกิดขึ้นกันตัวเราแล้ว เราเป็นผู้แตกฉานในธรรม รู้รอบในธรรม เมื่อปักใจเชื่อในความรู้นี้มากเท่าไร ก็เกิดความมั่นใจในความรู้ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นธรรมอยู่ในขั้นอริยธรรม เมื่อกำหนดจิตถามในเรื่องภูมิธรรม ก็จะมีความรู้ตอบรับทันทีว่า นี้เป็นภูมิธรรมของพระโสดา หรือภูมิธรรมของพระสกิทาคา หรือภูมิธรรมของพระอนาคา หรือภูมิธรรมของพระอรหันต์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ความรู้นี้ก็จะบอกขึ้นมาที่จิตอย่างชัดเจน จึงเกิดความสำคัญแก่ตัวเองว่า เราเป็นพระอริยเจ้าขั้นนั้นขั้นนี้ไป การแสดงออกทางกาย ทางวาจา ก็กล้าในสังคมทั่วไป
ไม่เก้อเขินเอียงอายในตัวเองเลย และพูดธรรมะทั้งวันก็ยังได้ ถ้ามีคนถามในเรื่องการปฏิบัติธรรม หรือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ก็จะพูดตามความเข้าใจของตัวเอง ทั้งที่ตัวเองเพี้ยนไปแล้วยังไม่รู้ตัว ถึงจะมีท่านผู้รู้ตักเตือนว่าผิดทางมรรคผลนิพพาน ก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดแต่อย่างใด
การภาวนาที่เพี้ยนไปในลักษณะนี้ เป็นเพราะความเห็นผิดในเบื้องต้น คือ มิจฉาทิฏฐิ พวกนี้ชอบทำแต่ความสงบ ไม่เคยใช้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิเลย ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นจากการทำสมาธิได้ง่าย ถึงจะมีความกล้าติดสินใจในการทำสมาธิ แต่ก็ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องรู้รอบในอุบายที่ถูกต้อง เช่น อยากรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมในการทำสมาธิ อยากให้กิเลสอาสวะหมดไปสิ้นไปจากการทำสมาธิ อยากหลุดพ้นไปอย่างแรงกล้าจากการทำสมาธิ ความเข้าใจอย่างนี้ จึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด
เพราะในศาสนาพุทธไม่มีใครเป็นพระอริยเจ้าเพราะการทำสมาธิอย่างเดียวนี้เลย หรือหากท่านมีความมั่นใจว่า กิเลสตัณหาอวิชชาหมดไปสิ้นไปจากการทำสมาธิจริง ท่านจะยกเอาเรื่องของพระอริยเจ้าองค์ไหนมาเป็นหลักฐานยืนยัน
ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ให้พระอริยสาวกทั้งหลายออกไปประกาศสัจธรรมเพื่อให้ชาวโลกได้ มีความรู้จริงตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าจึงได้มอบอุบายในการประกาศธรรมไว้แล้วเป็นอย่างดี นั้นคือ มรรค 8 มีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจในหลักความจริงอย่างถูกต้อง ให้ผู้ฟังมีความฉลาดรอบรู้ในเหตุผล ว่าหลักความจริงของรูปธรรม นามธรรม เป็นอย่างนี้ การดำริพิจารณาใคร่ครวญก็ให้พิจารณาตามหลักความจริง ฉะนั้นปัญญาความเห็นชอบจึงเป็นหลักใหญ่ ในการก่อขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นหลักความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และเป็นหลักในการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตรงต่อมรรคผลนิพพาน
จากหนังสือ “พ้นกระแสโลก” ของพระอาจารย์ทูล __________________
เชิญร่วมเป็นเจ้าภาพมหากฐินสามัคคีวัดท่าซุง ในนามเว็บพลังจิต ปีที่ 4 l ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสร้างตึกฝึกกรรมฐานและผ้ากฐินสีเงินประดับคริสตัล l ร่วมทำบุญสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์อาพาธ l ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือ l ช่วยวัดพระบาทน้ำพุด่วน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment