“อาจารย์ครับ ผมก็ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว ทำไมผมรู้สึกไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเลย ผมรู้สึกท้อแท้ครับอาจารย์”
“ก่อนที่ครูจะสอนเธอต่อไป ในความคิดของเธอ เธอคิดว่าการปฏิบัติธรรมนี้เปรียบเสมือนการกระทำอะไร ดังต่อไปนี้ ?”
“เสมือนการเรียนในโรงเรียน
เสมือนการรักษาโรคทางใจ
เสมือนการสั่งสมบุญ
เสมือนการได้พักใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ หรือศาลาริมทาง
เสมือนการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้
สิ่งแรกที่เธอทำผิดในการปฏิบัติธรรมก็คือการที่เธอตั้งความหวังในการปฏิบัติธรรม จิตใจของเธอเต็มไปด้วยความปรารถนาอันเร่าร้อน อันเป็นตัณหาที่คอยขัดขวางการปฏิบัติอันเป็นสภาวธรรมที่เธอยังไม่เข้าใจ และอาจารย์จะเทียบกับสภาพต่างๆที่เธออาจตั้งความหวังเอาไว้ในใจคือ ถ้าเธอเปรียบการปฏิบัติธรรม เสมือนสิ่งต่อไปนี้คือ
การเรียนในโรงเรียน เธอจะคิดว่าฉันต้องการเรียนให้ได้คะแนนสูงๆ เกรดดีๆ กว่าใครๆอยากได้เกรดเอทุกวิชา เธออยากจบไวๆ อยากบรรลุธรรมไวๆ เธอจะมีแต่ความโลภ ความเร่าร้อน นี่คือโทษของการคิดแบบนี้
ถ้าเธอมองว่าเป็นยารักษาโรคทางใจ เธอจะเฝ้าเพียรถามหมอว่าเมื่อไหร่โรคจะหายเสียที ฉันเสียเงิน เสียเวลามามากแล้วนะ เธอจะมีแต่ความโกรธ นี่คือโทษของการคิดแบบนี้
เสมือนการสั่งสมบุญ เธอจะมีเวลาให้การปฏิบัติน้อย แต่มุ่งแต่จะสั่งสมบุญเพื่อเป็นเสบียงเพื่อเดินทางในภพหน้า เพราะมิใช่เป้าหมายที่เธอหวัง นี่คือโทษของการคิดแบบนี้
เสมือนการได้หยุดพักใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือศาลาริมทาง เธอจะพอใจที่จะพักใจคลายทุกข์ชั่วคราว แล้วก็จากไป หรือเธออาจจะภูมิใจในความสุขอันเนื่องจากสมาธิ จะทำให้เธอไม่ก้าวหน้าในการเจริญปัญญา เพราะความหลงเพลินในสมาธิสุขทำให้เธอเสียเวลาจากการหยุดพัก และเธอก็อาจไม่อยากเดินทางต่อไป เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง เพราะคิดว่าสิ่งนี้เป็นเป้าหมายของตนในการปฏิบัติธรรม นี่คือโทษของการคิดแบบนี้
เสมือนการเดินทางอันเร่งรีบเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ เธอจะจ้องแต่เป้าหมายด้วยจิตใจที่รุ่มร้อน อยากให้ถึงเส้นชัยเร็วๆ เธอจะไม่ใช้ชีวิตในปัจจุบัน เธอจะขาดสติ นี่คือโทษของความคิดแบบนี้”
“แล้วผมควรคิดอย่างไรดีครับ?” ลูกศิษย์ใจร้อนถาม
“เธอควรคิดว่า ธรรมะนี้คือการมีชีวิตเพื่อที่จะเรียนรู้ความจริงของชีวิต มีชีวิตเพื่อที่จะมีชีวิต มีเพียงขณะปัจจุบันเท่านั้น ที่เราจะใช้เพื่อเรียนรู้กายและใจ เราเป็นเพียงผู้เรียนรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ไม่เร่งรีบ ไม่มุ่งหวัง ไม่ตั้งความปรารถนาใดๆให้ใจเราเร่าร้อน แต่ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนานที่จะได้เรียนรู้ เธอจะเห็นการทำงานของใจที่ทำงานทางกายเช่นทางตา ทางหู และทางความคิด ไม่ว่าจะดีหรือร้ายพอใจหรือไม่พอใจ เมื่อเราได้เรียนรู้เราจะได้สติขึ้นมาในปัจจุบันขณะนั้นเอง เราจะเห็นว่าทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งก็แตกสลายแปรเปลี่ยนสภาพไป ตัวเราที่จริงแท้ไม่มีอยู่จริง ใจเธอก็จะคลายความยึดติด และใจก็จะค่อยๆเบาขึ้น
ถ้าเปรียบแล้วธรรมะคงเสมือนลมหายใจของเธอ ที่มีติดตัวเธอมาตั้งแต่เกิดทีเดียว เธอจะขาดเขาไม่ได้ และเขาจะอยู่กับเธอจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ลมหายใจนี้มีอยู่และเป็นจริงในปัจจุบันนี้เท่านั้น เป็นเรื่องแปลกที่เธอสัมผัสได้จริง เพราะว่าไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับลมหายใจอยู่เลยในอดีต และไม่มีความคาดหวังลมหายใจในอนาคต ไม่ว่าเธอจะสนใจเขาหรือไม่ เขาก็จะอยู่กับเธอ เป็นเพื่อนเธอตลอดเวลา เพียงแต่เธอใส่ใจกับเขา เรียนรู้ที่จะมีสติระลึกถึงเขาเสมอๆ
หายใจเข้าเพื่อรู้สึกถึงความเย็นและการเคลื่อนไหว หายใจออกเพื่อระลึกถึงความอบอุ่นและผ่อนคลาย ไม่รีบร้อนและไม่ต้องรู้ให้ตลอดเวลา รู้บ้างเป็นบางครั้งเผลอบ้างเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอมีชีวิตในปัจจุบัน เธอไม่มุ่งหวังอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่อาลัยอดีตที่ล่วงไปแล้ว และเขาจะทำให้เธอกลับมารู้กายและใจในปัจจุบัน
เธอย่อมไม่ทวงถามเขาว่าเมื่อไหร่ ฉันจึงจะจบหลักสูตรการปฏิบัติธรรมเสียทีอย่างเนรคุณ เพราะไม่ว่าอย่างไร เธอก็ยังต้องหายใจอยู่ตลอดชีวิต
เธอย่อมไม่ทวงถามว่าเมื่อไหร่ฉันจะหายจากโรคทางใจเสียที เพราะเขาจะยังอยู่เป็นเพื่อนเธอต่อไปแม้เธอจะหายจากโรคคือกิเลสและความทุกข์ อย่างไรเธอก็ยังต้องอยู่กับการปฏิบัติธรรมตลอดไป
เธอย่อมไม่มัวหลงในบุญที่สุด เพราะการกำหนดลมหายใจนี้เลยขั้นทานและศีลแต่เลยไปถึงขั้นภาวนา เธอย่อมได้รับผลบุญอันคือความปีติในปัจจุบันนี่เอง
เพราะการกำหนดลมหายใจจะพาเธอสู่การปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดอยู่แล้ว เธอไม่ต้องกลัวว่าวิถีทางนี้จะเนิ่นช้าแต่อย่างไร ถ้าจะสรุปสั้นๆให้จำง่ายๆ ก็คือ ธรรมะเสมือนลมหายใจของเรา การปฏิบัติธรรมก็คือ การมีชีวิตที่จะเรียนรู้กายและใจ เสมือนการหายใจอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
เธออาจคิดว่าสิ่งนี้ยากเกินไปที่จะทำได้ อยากถามว่าเธอเสียลมหายใจไปเท่าไหร่แล้วในชาตินี้ และเสียมาแล้วกี่ชาติ ทำไมเธอไม่สำนึกถึงคุณค่าของเขา เรียนรู้และมีสติกับเขาเพื่อที่เขาจะได้เป็นเพื่อนที่ดีกับเธอไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต”
“ครับอาจารย์" ลูกศิษย์จ้องมองใบหน้าของอาจารย์ ดวงตาฉายแววนักสู้ อิ่มเอิบด้วยกำลังใจ ก่อนเดินจากไปด้วยกิริยานอบน้อม ผมจะจำคำสอนของอาจารย์ไว้”
“ธรรมะเสมือนลมหายใจของเรา การปฏิบัติธรรมก็คือ การหายใจอยู่ในปัจจุบัน”
ที่มา : จากเรื่องสั้น ในนิตยสารออนไลน์ “ธรรมะใกล้ตัว” ฉบับที่ 73
No comments:
Post a Comment