1/06/2010

โทษของการเป็นคนลวงโลก




๑) ทุกข์ทางใจ

จิต ที่เป็น ปกติสุขไม่อาจคิดพูดโกหกมดเท็จ การจะโกหกมดเท็จได้ต้องใช้จิตที่เป็นทุกข์เท่านั้น เพราะไหนจะต้องพยายามแต่งเรื่องขึ้นใหม่ ไหนจะต้องออกแรงบิดความจริงอันเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ด้วยปากอันเล็กกระจ้อยร่อย แม้แต่การกลับซ้ายให้กลายเป็นขวาเพียงนิดเดียว ก็อาจพาคนหลงตามคำหลอกของเราไปลงเหวได้แล้ว ทุกคำมุสาที่นึกว่าเล็กน้อย จึงอาจก่อมหันตภัยใหญ่หลวงเกินกว่าจะคาดเดาได้

การรู้ตัวว่าโดนหลอก เป็นความทุกข์ของผู้ถูกหลอก ถ้าเราเป็นคนหลอกเขา ใจเราจะเป็นสุขไปได้อย่างไร การสังเกตเข้ามาในตนเองจะทำให้เห็นทุกข์เป็นขณะ ๆ อย่างชัดเจน

ทุกข์ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่ออยากหลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะรู้สึกถึงความฝืดฝืน นั่นเพราะธรรมชาติของความจริงมีเหตุมีผล การอยากโกหกก็คือการอยากทำลายเหตุผล ซึ่งค้านกันกับสำนึกแบบมนุษย์ที่ต้องการเหตุผลตามจริง

ทุกข์จะทวีตัว ขึ้นเมื่อตัดสินใจหลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นเหมือนใจถูกคลุมไว้ด้วยฝ้าหมอกมายา นั่นเพราะการตั้งใจแต่งเรื่องหลอกคนอื่น ก็คือการพลิกเอาตัวเองออกจากความจริงอันสว่างไปสู่ความเท็จอันมืด จึงไม่มีทางที่ใจจะสดใสโปร่งโล่งไปได้

ทุกข์จะทวีตัวขึ้นอีกเมื่อ พยายามคิดคำลวงให้คนอื่นหลงเชื่อ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นคล้ายมีตัวเราที่รูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากเดิมกำลังดิ้นพล่าน พยายามจินตนาการจับต้นชนปลายความจริงกับความเท็จให้ต่อกันติด ที่มโนภาพของตัวเราแตกต่างจากเดิม ราวกับแปลกไปไม่ใช่ตัวเรา ก็เพราะขณะจิตนั้นเราไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ตัวจริงตามที่กำลังเป็น

ทุกข์ จะทวีตัวขึ้นถึงขีดสุดเมื่อต้องฝืนขยับปากหลอกลวงคนอื่นให้หลงเชื่อ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นการออกแรงเค้นคำ แตกต่างจากเมื่อพูดความจริงอย่างสบายอารมณ์ นั่นเพราะเรารู้ว่าความจริงเป็นเส้นตรง แต่จะอาศัยปากของเราเข้าไปดัดเส้นตรงนั้นให้เบี้ยวบิดผิดรูป แน่นอนว่าจิตใจและปากคอของเราย่อมเบี้ยวบิดผิดตามไปด้วย ไม่อาจตรงอยู่ได้

ทุกข์ จะไม่จบโดยง่ายแม้เมื่อหลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อได้สำเร็จ สังเกตเข้ามาในตนเอง จะเห็นเป็นความรู้สึกเหมือนมีสองภาค ภาคหนึ่งรู้ความจริง อีกภาคหนึ่งรู้ว่ามีความลวงซ้อนความจริงขึ้นมา อีกทั้งต้องคอยปกปิดให้ดี ยิ่งภาคแห่งความลวงหนาขึ้นกลบภาคแห่งความจริงมากขึ้นเท่าใด เราจะยิ่งรู้สึกคล้ายเกิดหน้ากากปิดบังหน้าตาของตนมากขึ้นเท่านั้น จนวันหนึ่งส่องกระจกเงาแล้วอาจรู้สึกครึ่งจริงครึ่งฝัน ถามตัวเองว่านี่ใบหน้าของเราแน่หรือ?

ใน ทางปฏิบัติแล้ว การหลอกคนได้มักทำให้ภูมิใจ เพราะหลงนึกว่าตัวเองฉลาด และเห็นว่าคนอื่นโง่ ดังนั้น ทุกข์ที่เกิดจากการฝึกเป็นนักแต่งเรื่องจึงไม่ปรากฏชัดในช่วงต้นวัย ต่อเมื่อหลอกคนอื่นจนกระทั่งจิตทำงานเป็นอัตโนมัติ คล้ายหลอกได้แม้กระทั่งตัวเองให้เชื่ออะไรผิด ๆ หลงตัดสินใจโง่ ๆ และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงตระหนักว่าที่สุดของการเป็นคนลวงโลก ก็คือการพาตัวเองไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนจากการไม่รู้จักตนเองเสียแล้ว





๒) การสั่งสมบาป

เมื่อ ทราบแล้วว่าความมืดเป็นเครื่องหมายของบาป เราก็สามารถสำรวจใจตนเองแล้วทราบได้ว่าการโกหกเป็นบาป เพราะไม่มีการโกหกครั้งใดที่ทำให้จิตของเราสว่างขึ้น มีแต่จะหม่นหมองลง กับทั้งไม่มีแก่ใจคิดอะไรในทางดี ในทางที่เจริญเอาเลย

แรงผลักดันให้ โกหกได้เต็มปากเต็มคำคือ โลภะ โลภะต้องชนะความอยากสบายใจ จึงขับให้เราก่อบาปด้วยการหลอกลวง แท้จริงมนุษย์เราต้องการความสบายใจเหนือสิ่งอื่นใด แต่เพราะอยากได้สิ่งที่ต้องการมากเกินไป หรือจำต้องเห็นแก่สิ่งอื่นยิ่งไปกว่าใจตน จึงยอมทำลายความสบายใจด้วยการพูดคำเท็จ

ที่น่ากลัวก็คือบาปสามารถ สั่งสมตัวได้ นั่นหมายความว่ายิ่งโกหกมากขึ้นเท่าไร ใจก็ยิ่งอึดอัดทรมานมากขึ้นเท่านั้น มองไปทางไหนความจริงทั้งหลายดูน่าบิดเบือนให้ผิดจากเดิมไปหมด

แม้ ขยับปากเอาตัวรอดหรือสร้างภาพให้ดูดี เช่น คนที่บ้านถามว่าไปไหนมา ความจริงเราไปสังสรรค์เฮฮากับเพื่อนฝูง แต่เราไพล่พูดโกหกว่าไปช่วยงานสำคัญที่นั่นที่นี่ ปากของเราก็ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องดัดจิตให้เบี้ยวบิดผิดรูปแล้ว เพียงคำลวงเล็ก ๆ ก็จุดชนวนความคิดไม่ตรงไปตรงมาได้ ต่อไปเมื่อต้องตอบแบบเสียภาพลักษณ์นิดเดียว ระบบความคิดของเราจะพยายามสร้างคำพูดไปในทางรักษาภาพทันที โดยไม่คำนึงว่าภาพดี ๆ จะมีความจริงปนอยู่ด้วยมากน้อยเพียงใด

ความ คิดในทางปั้นน้ำเป็นตัวจะลดความฉลาดในการอธิบายให้คนเข้าใจความจริง ทั้งที่พูดความจริงโดยไม่ต้องให้คนฟังเสียความรู้สึกก็ได้ แต่เพราะมัวไปเชื่ออยู่ว่าขืนพูดความจริงก็พังเท่านั้น เลยเท่ากับปิดโอกาสฝึกใจให้ซื่อ ฝึกคิดให้ฉลาด น้อยคนจึงสามารถพูดแบบให้เกิดเรื่องดี ๆ โดยไม่ต้องแต่งเรื่องหลอก ๆ ขึ้นมา

ฉะนั้น เพียงไม่ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะเว้นขาดจากการโกหก ก็นับว่ามีโทษแล้ว เพราะเมื่อถูกตั้งเงื่อนไขให้เกิดโลภะอย่างแรงกล้า ความอยากสบายใจก็ลดระดับแทบไม่เหลือ ยังผลให้สติพร่าเลือนลง เปิดช่องให้โลภะเข้าครอบงำจนโง่เขลา หลงนึกว่าบาปแห่งการโกหกเป็นสิ่งสมควรทำยิ่งกว่าบุญแห่งการพูดความจริงให้ เกิดประโยชน์




๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย

ไม่ มีความ รู้สึกอึดอัดอันใดย่ำแย่ไปกว่าความรู้สึกอึดอัดอันเกิดจากการโกหก เพราะบาปข้ออื่นยังทำลงไปแบบมีเหตุผลให้โล่งใจกันได้ เช่น เราอาจฆ่าโจรโฉดตามหน้าที่ของตำรวจ เราอาจโกงใครเพราะเขาโกงก่อน เราอาจกินเหล้าเพื่อไม่ให้คนรินเสียใจ แต่ถ้าต้องฝืนใจโกหกครั้งหนึ่ง เราก็ต้องฝืนทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับความจริงอันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่หนึ่งครั้ง เมื่อสั่งสมมากแล้ว ในที่สุดทั้งอกทั้งใจก็ เต็มแน่นไปด้วยความอึดอัดครัดเครียด และสับสนอยู่กับตนเองว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ อันไหนตื่นอันไหนฝัน เห็นความจริงเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อ กับทั้งมีนิสัยดื้อด้าน ไม่ยอมรับความจริงอย่างน่าสลดสังเวชได้

เมื่อบาปจากการการโกหกถูก สั่งสมมากแล้ว คนโกหกย่อมเลื่อนฐานะเป็นคนลวงโลก ดูเผิน ๆ เหมือนโกหกได้หน้าตาย คิดแต่งเรื่องได้เป็นตุเป็นตะในเวลาอันรวดเร็ว หลอกได้แม้กระทั่งเครื่องจับเท็จ ซึ่งสะท้อนว่าสามารถสะกดจิตตัวเองให้สำคัญไปว่ากำลังพูดเรื่องจริงอย่างเป็น ธรรมชาติ แต่นั่นแหละคือความผิดธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง จนก่อให้เกิดกระแสในตัวที่น่าระแวง ไม่ชวนให้อยากคบ อยู่ใกล้แล้วอึดอัด เหมือนอีกาที่ซื่อกับใครไม่เป็น หรือเหมือนลิงที่พร้อมจะล้อเลียนเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง

การโกหก หลอกลวงแต่ละครั้งคือการบิดเบือนความจริง ซึ่งก็มีผลสะท้อนให้ความจริงของเราบิดเบี้ยวไปด้วย อาจจะในรูปของการโดนใส่ไคล้ หรืออาจจะในรูปของการถูกเข้าใจผิด คิดให้ดีก็สมกันแล้ว ไม่มีทางที่เราจะบังคับใครต่อใครให้พูดถึงเราตรงตามความจริงไปทั้งหมด เท่า ๆ กับที่เราเองก็ไม่ได้พูดถึงตัวเองตรงตามจริงทุกครั้ง เช่นที่เป็นกันมากคือโกหกเพื่อรักษาหน้า ไม่ยอมรับผิด เป็นต้น

จิต ของคนลวงโลกย่อมมีความบิดเบี้ยว กลับกลอกไปมา แม้แต่เจ้าตัวเองก็ควบคุมไม่ได้ว่าจะให้ชอบอะไรหรือรักใคร คล้ายตกอยู่ในห้วงฝันหลอนที่โยกเยกไหวเอนอยู่เกือบตลอดเวลา

จิต ที่ บิดเบี้ยวย่อมเหมาะกับภพใหม่ที่เบี้ยวบิด เต็มไปด้วยความหลอกหลอนให้ผิดหวัง วันนี้นึกว่าดี พรุ่งนี้กลายเป็นร้ายให้ช้ำใจ น่าอึดอัดระอา ถ้ายังมีวาสนาพอจะเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ ก็ย่อมตกอยู่ในภาวะผันผวนไม่แน่นอนอย่างรุนแรง

หาก ตายเยี่ยงคนลวงโลก ผู้ยังไม่อิ่มไม่พอกับการปั้นน้ำเป็นตัว แต่ยังพอมีบุญพยุงไม่ให้ร่วงหล่นถึงนรก ก็อาจไปเสวยภพของพวกหาสัจจะได้ยากในระดับเดรัจฉานภูมิ เช่น อีกา หรือลิงป่าบางจำพวก เป็นต้น

แต่หาก ตาย เยี่ยงคนลวงโลกที่ดีแต่เยาะ หยัน เห็นคนอื่นโง่กว่าตนเสมอ ก็จัดว่ามีความเหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกกดขี่อย่างน่าสะพรึงกลัว ดังเช่นนรกภูมิสถานเดียว!


"อริยทรัพย์"....ทรัพย์สินที่นำติดตัวไปได้เมื่อตายไปแล้ว





ทรัพย์สินที่นำติดตัวไปได้เมื่อตายไปแล้ว

อริยทรัพย์ ลองอ่านดู ค่อยๆอ่านแล้วพิจารณา อ่านแล้วดี ส่งต่อได้บุญมาก(ธรรมทาน)


วันนี้เป็นวันพระตามปฏิทินทางจันทรคติที่เวียนมาอีกครั้งทุกๆ ๖ วัน ๗ วัน หรือ ๘ วัน เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธ เมื่อถึงวันพระก็จะเข้าวัดกันเพื่อประกอบกิจทางศาสนา มีการบูชาพระรัตนตรัย ให้ทาน บริจาคข้าวของต่างๆ สมาทานศีลด้วยความมีหิริโอตตัปปะ ความอายและเกรงกลัวบาป ฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อเสริมสติปัญญา ความรู้ ความฉลาด เป็นการสะสมอริยทรัพย์หรือทรัพย์ภายใน ด้วยการสละทรัพย์ภายนอก มีเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติต่างๆ บริจาคถวายทานให้กับพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นการเอาทรัพย์ภายนอกแลกทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายในก็คือคุณธรรมความดีทั้งหลาย

การไปวัดจึงเหมือนกับการไปธนาคารเพื่อไปทำธุรกรรมการเงิน ถ้าจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องแลกเงินเป็นสกุลต่างๆ ไปประเทศอังกฤษก็แลกเงินสกุลปอนด์ของอังกฤษ เพราะเงินไทยใช้ได้แต่ในประเทศไทยเท่านั้น เวลาไปต่างประเทศก็ต้องใช้เงินสกุลของประเทศนั้นๆ ฉันใด ภพชาตินี้ก็เป็นเหมือนประเทศหนึ่ง เมื่อตายไปก็ต้องไปอีกภพชาติหนึ่ง อีกประเทศหนึ่ง สิ่งที่จะเอาติดตัวไปได้ก็คือทรัพย์ภายในที่เรียกว่าอริยทรัพย์ เป็นเหมือนเงินสกุลของประเทศที่เราจะไป ส่วนทรัพย์ภายนอก เช่นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้แม้แต่บาทเดียว สตางค์แดงเดียวก็เอาไปไม่ได้

คนฉลาดจึงเอาทรัพย์ภายนอกมาแลกเป็นทรัพย์ภายในไว้ เอาทรัพย์ภายนอกที่มีมาฝากไว้ในธนาคารบุญ แล้วแลกเป็นเงินสกุลต่างๆ เวลาเดินทางไปภพหน้าชาติหน้า ก็จะมีทรัพย์ติดตัวไป เป็นอริยทรัพย์หรือทรัพย์ภายใน เป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครแย่งหรือขโมยไปได้ ไม่เหมือนทรัพย์ภายนอก โดนขโมยไป ถูกโกงไป หรือถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยึดไปก็ได้ แต่ทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครแย่งชิงไปได้ เป็นทรัพย์ของเราโดยแท้ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปกับเรา เมื่อเราตายไปแล้วเราต้องเดินทางต่อไป ถ้ามีทรัพย์ภายในเราก็จะไปสู่สุคติ ไปสู่ที่ที่มีแต่ความสุขความเจริญ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล เป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีอริยทรัพย์ ตายไปก็จะต้องไปสู่อบาย สู่ทุคติเท่านั้น เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เพราะขาดอริยทรัพย์ที่จะฉุดรั้งไว้ไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำ นักปราชญ์คนฉลาด ผู้รู้จักเหตุรู้จักผล เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมเกิดศรัทธา ย่อมน้อมเอาสิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติกับตน ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ เป็นการมาสะสมทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์

อริยทรัพย์ มี ๗ ประการด้วยกัน คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา ๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก ๖. จาคะ ๗. ปัญญา

๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง รู้ในสิ่งต่างๆที่เราไม่รู้กัน เช่นรู้เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด รู้เรื่องบาป รู้เรื่องบุญ รู้เรื่องคุณ รู้เรื่องโทษ รู้เรื่องมรรค ผล นิพพาน คือสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญผู้เต็มไปด้วยอวิชชา ยังไม่สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยสติปัญญาความรู้ความฉลาด วิริยะความอุตสาหะพากเพียร ขันติความอดทน สะสมบุญบารมีมาเป็นกัปเป็นกัลป์ จนบรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในไตรภพ ในโลกทั้ง ๓ นี้ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โลกของการเวียนว่ายตายเกิด ผู้มีดวงตาเห็นธรรมสามารถมองเห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเรายังมืดบอด ยังไม่รู้ไม่เห็น แต่มีแววแห่งความฉลาด ตรงที่ยอมรับว่าเรายังโง่อยู่ และยอมรับว่าพระพุทธเจ้าฉลาดกว่าเรา เมื่อพระพุทธองค์เป็นผู้มีความฉลาดกว่าเรา รู้มากกว่าเรา เราจึงเชื่อพระพุทธเจ้า คือเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมีอยู่ ๓ ข้อใหญ่ๆ คือ ๑. กรรม ๒. วิบาก ๓. สัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆตน

๑. เชื่อว่ากรรม คือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ความเจริญหรือความเสื่อม ภพชาติต่างๆเป็นผลที่เกิดมาจากกรรม เช่นเชื่อว่าเหตุที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เพราะในอดีตเคยทำความดีรักษาศีลไว้ จึงทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อย่างนี้เป็นต้น

๒. เชื่อวิบากผลของกรรม เชื่อว่าเมื่อทำกรรมไปแล้วไม่ว่าดีหรือชั่ว จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เช่นการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นวิบาก เป็นผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต ได้ทำกรรมมาต่างกันจึงทำให้มาเกิดต่างกันไป มีความแตกต่างไม่เท่าเทียมกัน ทางด้านเพศ ทางด้านรูปร่างหน้าตา ทางด้านความรู้ความฉลาด ทางด้านฐานะการเงิน เหล่านี้เรียกว่าวิบาก คือผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต เชื่อว่าเราเป็นอยู่อย่างนี้ก็เพราะทำมาแค่นี้ สะสมบุญบารมีมาแค่นี้ ทำมาแค่นี้ก็ได้แค่นี้ ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ต้องสะสมบุญบารมีให้มากขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงที่สุดของ บุญบารมี ก็จะบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

๓. เชื่อว่าสัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน เมื่อทำกรรมแล้ววิบากย่อมตามมาเหมือนเงาตามตัว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครช่วยใครให้พ้นวิบากกรรมของตนไปได้ หรือสร้างบุญกุศลให้แก่กันได้ เมื่อถึงเวลาที่ผลบุญจะเกิดขึ้นกับผู้หนึ่งผู้ใด ก็ไม่มีใครไปห้ามได้ เช่นเดียวกับผลของบาปกรรม เมื่อถึงเวลาที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปยับยั้งได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเรา ก็ต้องทำใจให้นิ่งเฉยเป็นอุเบกขา ยอมรับความจริงว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไม่มีใครยับยั้งผลของกรรมได้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องรับผลของกรรมกันทุกๆคน

๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา เมื่อมีศรัทธาแล้วเราก็จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน โดยเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราก็จะทำแต่สิ่งที่ดีและหลีกเลี่ยงการทำบาป ด้วยการรักษาศีลตามกำลังศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา ตั้งแต่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ จนถึง ศีล ๒๒๗ ศีลคือความปกติทางกายและทางวาจา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา

๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เมื่อเห็นว่าการทำบาปเป็นสิ่งไม่ดี จึงละเว้น ด้วยหิริ ความอายบาป และโอตตัปปะ ความกลัวบาป ทุกคนมีความอายกัน แต่สิ่งที่น่าอายกลับไม่อาย กลับไปอายในสิ่งที่ไม่น่าอาย เช่นไปอายในความยากจน ในรูปร่างหน้าตาที่ไม่สวยงาม ในความโง่เขลาเบาปัญญาของตน สิ่งที่น่าอายคืออะไร ก็คือการกระทำความชั่วทั้งหลาย เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปดมดเท็จ การเสพสุรายาเมา เพราะเมื่อทำบาปไปแล้วก็เหมือนกับเอาไฟมาเผาตัวเองและผู้อื่น สร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนและผู้อื่น เป็นสิ่งที่น่าอับอาย น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับความกลัว สิ่งที่น่ากลัวกลับไม่กลัว สิ่งที่ไม่น่ากลัวกลับไปกลัว เช่นกลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวเลย เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดกับทุกๆคน เป็นธรรมดา เป็นปกติของธาตุขันธ์ ของร่างกาย เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ผู้ที่กลัวคือผู้ที่มีความสำคัญมั่นหมาย ไปยึด ไปติด ว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของๆเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คิดว่าเราแก่ เราเจ็บ เราตาย แทนที่จะคิดว่าร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย ก็กลับไปหลงคิดว่าร่างกายนี้แหละคือเรา เมื่อจิตติดอยู่กับร่างกาย ก็เลยคิดว่าจิตเป็นกาย กายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา นี่คือความหลง

ถ้าได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรมแล้วจะสามารถแยกแยะกายออกจากจิตได้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากายก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตก็เป็นอย่างหนึ่ง กายนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แล้วกลายเป็นอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น นี่คือเรื่องของร่างกาย เป็นธาตุขันธ์ล้วนๆ มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เป็นเพราะขาดปัญญาเลยทำให้จิตถูกอวิชชาครอบงำ ไปยึด ไปติด ไปหลงว่าร่างกายนี้เป็นจิต จิตเป็นร่างกาย เมื่อร่างกายเป็นอะไรไป ก็เกิดกลัวขึ้นมา กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรมอย่างถ่องแท้แล้ว อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะไม่กลัว ความแก่ เจ็บ ตาย เลยแม้แต่น้อย ท่านตายได้ในทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ด้วยความเป็นปกติสุข ไม่มีความหวั่นไหว เพราะท่านมีปัญญา มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ท่านปล่อยวาง ไม่ไปยึดไม่ไปติดในธาตุขันธ์ ถ้ายังดีอยู่ก็เอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนเสื้อผ้าที่ยังดีอยู่ก็ใส่ไป ถ้าขาดก็ทิ้งไปฉันใด ร่างกายก็ฉันนั้นเมื่อถึงเวลาแตกดับก็ทิ้งไป

สิ่งที่น่ากลัวคืออะไร ก็คือบาปกรรม การกระทำความชั่วทั้งหลาย เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ความหายนะ เริ่มตั้งแต่ในปัจจุบัน เมื่อทำความชั่วแล้วจิตจะมีความร้อน มีความกังวล มีความหวาดวิตก เกิดความกลัวขึ้นมา กลัวจะถูกจับได้ว่าทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เมื่อตายไปก็ต้องไปใช้กรรมในอบายต่อไป ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เพราะขาดหิริ ความอาย และโอตตัปปะ ความกลัวบาป ขาดศรัทธา ไม่เชื่อในเรื่องบาปกรรม ก็เลยเกิดความประมาทขึ้นมา คิดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อหลอกให้ทำความดีโดยไม่มีผลดีอะไรตามมา ถ้าคิดเช่นนี้ จะเป็นคนที่สร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัสให้กับตนเอง เพราะจะไม่มีหิริโอตตัปปะ แล้วจะทำบาปไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ ก็จะมีหิริโอตตัปปะ ความอายและความกลัวบาป จะสะสมบุญแบบไม่กลัวจน ไม่กลัวว่าจะเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เพราะบุญกุศลที่ได้นั้น มีคุณค่ามากยิ่งกว่าเงินทอง ยิ่งกว่าเวลาที่เสียไป เพราะได้อริยทรัพย์นั่นเอง

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก การได้ยินได้ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้รู้มาก เป็นผู้ศึกษามาก การที่ได้ศึกษามากต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้ที่มีความรู้ โดยเฉพาะรู้ทางธรรม เพราะธรรมเป็นแสงสว่างนำชีวิต ให้รู้จัก บาป บุญ คุณ โทษ กรรม และ วิบาก ถ้าได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ต่อไปจะเป็นผู้ที่มีความรู้มาก เป็นพหูสูต เป็นพาหุสัจจะ คือเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก เป็นอริยทรัพย์

๖. จาคะ การเสียสละ เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนให้แก่ผู้อื่น เป็นการลดละความเห็นแก่ตัว ความหลงในตัวตน โดยเห็นว่าสมบัติเงินทองที่มีอยู่เป็นสมบัติผลัดกันชม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากกัน ไม่ใช่ของๆตน ทรัพย์สมบัติที่แท้จริงต้องเป็นอริยทรัพย์ ที่เกิดจากจาคะ การเสียสละ แจกจ่าย แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีทรัพย์ที่เหลือใช้แล้วไม่เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการบริจาคแบ่งปันให้กับผู้อื่น ก็จะไม่มีอริยทรัพย์ เหมือนกับการไม่ได้แลกเงินตราต่างประเทศไว้ใช้เวลาเดินทางไปต่างประเทศ จะมีแต่เงินที่ไม่สามารถเอาติดตัวไปใช้ได้ ไปเกิดภพหน้าชาติหน้า ก็จะมีแต่ความอดอยากขาดแคลน ในปัจจุบันก็จะถูกอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลงคุกคาม สร้างความร้อนรนให้แก่จิตใจ หาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้

๗. ปัญญา ความรู้ความฉลาด คือรู้ความจริง รู้อะไรคือเหตุ รู้อะไรคือผล รู้อะไรคือบาป รู้อะไรคือบุญ รู้อะไรคือคุณ รู้อะไรคือโทษ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ารู้แล้วย่อมทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ละเว้นจากการประพฤติที่ไม่ดีไม่งาม นำความสุขมาสู่ตน บาปกรรมไม่ทำ ทำแต่บุญอย่างเดียว เหมือนกับคนที่ไปธนาคาร ไม่กู้หนี้ยืมสิน มีแต่ฝากอย่างเดียว หนี้สินมีเท่าไรก็ชดใช้หมด เมื่อหมดหนี้สินแล้วก็สบายใจ ผู้ที่มีหนี้สินรุงรังมีแต่ความทุกข์ใจ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็คิดหนีหนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ฆ่าที่ตัวต้นเหตุของการมีหนี้สิน คือตัวฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ตัวโลภ ตัวอยากต่างหาก ที่ทำให้มีหนี้มีสิน ต้องฆ่าด้วยการประหยัด มักน้อย สันโดษ

ถ้ามีการประหยัด มักน้อย สันโดษแล้ว ก็จะใช้จ่ายอยู่ในกรอบของรายได้ มีเงินมีทองเท่าไรก็จะมีพอใช้ เพราะได้ควบคุมตัณหา ความอยากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ไม่ว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกกี่ภพกี่ชาติ ก็จะต้องมีหนี้สินอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินไม่ได้ ก็ต้องฆ่าตัวตายไปเรื่อยๆเพราะติดเป็นนิสัย จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการเอาชนะความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความอยาก ความโลภทั้งหลายด้วยการประหยัดมัธยัสถ์ และความมักน้อยสันโดษ

เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและในภพหน้าชาติหน้าจึงควรสะสม อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา ๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก ๖. จาคะ ๗. ปัญญา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

โดย : คนดอยคอยรัก

ที่มา เอ็มไทย