"...การรักษาศีล ศีลนี้จะดูแลธรรมะให้เจริญขึ้น เหมือนพ่อแม่กับลูก การรักษาศีลคือ การเว้นการเบียดเบียนและทำการเกื้อกูลช่วยเหลือ อย่างน้อยให้มี ๕ ข้อ คือ ๑. ให้เมตตาสัตว์และมนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ทำร้ายเบียดเบียนตลอดถึงการฆ่า ๒. ให้มีความสุจริต อย่าไปข้ามสิทธิ์ของกันและกัน พูดง่าย ๆ คือ ไม่ให้ขโมยของกันนั่นเอง ๓. ให้รู้จักประมาณในการบริโภค อยู่ในฆราวาสวิสัยก็ต้องมีครอบครัว มีพ่อบ้าน แม่บ้าน แต่ถ้ารู้จักประมาณก็ปฏิบัติธรรมะได้ ให้รู้จักพ่อบ้านของเรา รู้จักแม่บ้านของเราเท่านั้น ให้รู้จักประมาณ อย่าทำให้เกินประมาณ ให้มีขอบเขต แต่โดยมากคนจะไม่มีขอบเขตเสียด้วยนะ บางทีพ่อบ้านคนเดียวก็ไม่พอ มีสองคนบ้าง บางทีแม่บ้านคนเดียวไม่พอ ต้องมีสองมีสามด้วย อย่างนี้ก็มี อาตมาว่าคนเดียวก็กินไม่หมดแล้ว จะไปมีสองคนสามคนนี่ มันเรื่องสกปรกทั้งนั้นนี่ อย่างนี้ต้องพยายามชำระ พยายามฝึกใจให้มันรู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี้มันบริสุทธิ์ดี ที่ไม่รู้จักประมาณนี้ มันไม่มีขอบเขต ถึงได้อาหารเอร็ดอร่อยอย่างนี้ อย่าไปนึกถึงความเอร็ดอร่อยมันมาก ให้รู้จักท้องเรา ให้รู้จักประมาณ ถ้าเรากินมากก็ลำบากเหมือนกัน ให้รู้จักประมาณ ความรู้จักประมาณนี่ดีที่สุด ให้มีแม่บ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีพ่อบ้านคนเดียวก็พอแล้ว มีสองมีสามเกินขอบเขตแล้ววุ่นวาย ๔. ความซื่อสัตย์ นี้ก็เป็นเครื่องกำจัดกิเลสเราเหมือนกัน เป็นคนตรงมีสัจจะ เป็นคนซื่อสัตย์ ๕. เป็นคนที่ไม่ดื่มสุราน้ำเมา อย่างนี้ก็ให้รู้จักประมาณ ให้เลิกเสียก็ดี คนเราเมามัวในครอบในครัวก็มากแล้ว เมาลูก เมาหลาน เมาทรัพย์สมบัติหลายอย่าง มันก็พอแล้ว ยิ่งเอาเหล้ามากินเข้าไปอีก มันก็มืดเท่านั้นแหละ อันนี้บริษัททั้งหลายไม่รู้ ดูตัวเราเอง ถ้าหากว่ามักมาก ใครมีมากก็พยายามค่อย ๆ ปัดเป่ามันออกไป ปัดเป่ามันออกไปให้หมด ทีนี้ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว มีความรักกัน ซื่อสัตย์ ก็จะมีความสุข ความเดือดร้อนไม่มี เมื่อความเดือดร้อนไม่มีแล้ว เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็มีความสุข นี้คืออยู่ในเมืองสวรรค์แล้ว สบาย กินก็สบาย นอนก็สบาย มีความสุข สุขเกิดจากศีล เมื่อมีการกระทำอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้อันนี้เกิดขึ้นมา ละความชั่วเช่นนี้ เป็นกฏอันหนึ่งเพื่อความดีนี้เกิดขึ้นมา นี่ถ้าเรามีศีล อย่างนี้ ความชั่วหนีไป ความสุขเกิดขึ้นมา นี่ละเกิดเพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ..." หลวงปู่ชา สุภัทโท by: Motanaboon.Com
10/02/2013
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment