เหตุที่พระอภิธรรมปรากฏบนโลกนี้ อาศัยเหตุ ๒ ประการ หรือเหตุ ๓ ประการที่เรียกกันว่า นิทาน เหตุ ๒ ประการ ประกอบด้วย๑. อธิคมนิทาน ได้แก่ บารมี ๓๐ ทัศ มหาปริจาคะ ๕ และจริยา ๓ กำหนดเวลานับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่ประทับอยู่ที่โพธิบัลลังก์ ๒. เทศนานิทาน ได้แก่ การแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้นไป เหตุ ๓ ประการ ประกอบด้วย ๑. ทูเรนิทาน (เหตุไกล) คือ นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงชาติที่เกิดเป็นเสตเกตุเทพบุตรในดุสิตเทวโลก ๒. อวิทูเรนิทาน (เหตุไม่ใกล้ไม่ไกล) คือ นับตั้งแต่ชาติที่เกิดเป็นเสตเกตุเทพบุตร จนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ขณะประทับที่โพธิบัลลังก์ ๓. สันติเกนิทาน (เหตุใกล้) คือการแสดงพระอภิธรรมในดาวดึงส์เทวโลก ที่มีของเหตุ ๒ ประการ หรือ เหตุ ๓ ประการ ดังมีแสดงไว้ว่า ....... นับถอยหลังจากภัททกัปนี้ไป ๔ อสงขัย กับ ๑ แสนมหากัป ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ทรงพระนามว่า สุเมธดาบส ได้มีโอกาสพบสมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมโพธิสัตว์เกิดศรัทธาปสาทะอันแรงกล้า ทอดพระองค์ลงกับพื้นดินเพื่อเป็นที่รองรับพระบาทให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จผ่านไป ในโอกาสนั้น ดำริอยู่ในพระทัยว่า หากพระองค์ต้องการอรหัตตผล ก็จักสำเร็จได้สมความปรารถนา แต่ทรงพิจารณาตนเองแล้วเห็นว่า พระองค์เป็นอุตมบุรุษอาชาไนย ประกอบด้วยธรรมสโมธาน การที่จะได้มรรค ผล นิพพาน โดยเฉพาะพระองค์นั้น จะเพื่อประโยชน์อันใด สมควรที่จะได้รื้อสัตว์ ขนสัตว์เข้าสู่พระนิพพานด้วย และนับตั้งแต่พระชาติที่เป็นพระสุเมธดาบส เป็นต้นมา จนถึงพระชาติที่เป็นพระเวสสันดร พระองค์ได้บำเพ็ญพุทธการกธรรมสร้างบารมี ๓๐ ทัศ คือ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี วิริยบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ที่บำเพ็ญเป็น ๓ ชั้น คือ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ทรงมหาปริจาคะ ๕ ประการ คือ ๑. ธนบริจาค คือ การสละทรัพย์สินเงินทอง และสละฐานะความเป็นพระราชา ปเทสราชา เอกราชา และจักวรรดิราชา ๒. ปุตตบริจาค คือ การให้บุตรธิดา เป็นทาน ๓. ภริยบริจาค คือ การให้ภริยา เป็นทาน ๔. อังคบริจาค คือ การให้อวัยวะ เป็นทาน ๕. ชีวิตบริจาค คือ การสละชีวิต เป็นทาน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งจริยา ๓ ประการให้บริบูรณ์ คือ ๑. โลกัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความสุข(โลกัตถจริยานี้ คือการที่ประกอบพุทธกิจ ๕ ประการ ได้แก่ ปุพฺพญเห บิณฑปาตญฺจ .....เวลาเช้า เสด็จออกบิณฑบาตรเพื่อโปรดสัตว์โลกที่ต้องการบุญ สายญเห ธมฺมเทสนํ .....เวลาย็น ทรงแสดงธรรมแก่ผู้สนใจในการฟังธรรมทั้งหลาย ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ .....เวลาค่ำ ทรงประทานพระโอวาท ให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ .....เวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย ปจฺจุสเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ .....เวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งพระองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น) ๒.ญาตัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ ให้ได้รับความสุข เช่น ทรงเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแนะนำให้เหตุผลแก่พระญาติที่กำลังจะทำสงครามกัน ให้สามารถปรองดองกันได้ เป็นต้น . พุทธัตถจริยา คือ ทรงบำเพ็ญเพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณ และทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าแห่งพุทธอาณาเขต เมื่อพระองค์จุติจากพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรแล้ว ได้ปฏิสนธิเป็นเสตเกตุเทพบุตรในดุสิตเทวโลก เสวยเทวสมบัติด้วยความสมบูรณ์พูนสุขยิ่งเป็นเวลาช้านาน ทรงพระสิริงดงามยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย จนกระทั่งถึงคราวที่เทวดาและพรหมได้พร้อมกันอาราธนาให้มาถือพระชาติเป็นมนุษย์ เพื่อจะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก่อนที่จะรับอาราธนา ได้ทรงพิจารณา ปัญจมหาวิโลกนะ คือ ๑. กาละ คือ ทรงพิจารณาอายุของมนุษย์ทั้งหลาย เห็นว่า อายุของมนุษย์ในสมัยนั้นตั้งอยู่ร้อยปีเป็นกำหนด ประการหนึ่ง ๒. ทีปะ คือ ทรงพิจารณาถึงทวีปทั้งสี่ เห็นว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุบัติขึ้นแต่ในชมพูทวีปแห่งเดียวเท่านั้น ประการหนึ่ง ๓. เทสะ คือ ทรงพิจารณาถึงประเทศที่จะไปบังเกิด เห็นว่า มัชฌิมประเทศเป็นที่บังเกิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นต้น และกรุงกบิลพัสดุ์นี้ ประดิษฐานอยู่ในภูมิภาคแห่งมัชฌิมประเทศ ประการหนึ่ง ๔. กุละ คือ ทรงพิจารณาถึงสกุลที่จะไปบังเกิดว่า ธรรมดาพระสัพพัญญูจ้าย่อมบังเกิดแต่ในสกุลทั้งสอง คือ ขัตติยสกุล และพราหมณสกุล ซึ่งโลกสมมุตินับถือว่าประเสริฐ เห็นว่า กาลบัดนี้โลกสมมุติว่าสกุลกษัตริย์ประเสริฐกว่าสกุลพราหมณ์ จึงสมควรจะไปบังเกิดในสกุลกษัตริย์ และพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชซึ่งครองกรุงกบิลพัสดุ์นั้น เป็นศากยวงศ์ซึ่งสืบสันติวงศ์มาจากพระเจ้ามหาสมมตะ เป็นอสัมภินนะ ไม่มีกษัตริย์อื่นมาแทรกแซงในการสืบสันตติวงศ์เลย สมควรเป็นพุทธบิดาได้ ประการหนึ่ง ๕. มาตุอายุปริจเฉทะ คือ ทรงพิจารณาถึงพระชนนี เพราะธรรมดาผู้ที่จะเป็นพุทธมารดานั้น ย่อมบำเพ็ญพระบารมีมาถึงแสนมหากัปบริบูรณ์ จำเดิมแต่บังเกิดมาก็รักษาเบญจศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย เห็นว่า พระสิริมหามายาเทวี อัครมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธนะ มีพระบารมีสมบูรณ์แล้ว ทรงพิจารณาต่อไปว่า พระชนมายุของพระนางสิริมหามายาจะถึงกาลปริจเฉทะเมื่อใด อีกประการหนึ่ง เมื่อทรงทราบแล้ว จึงรับอาราธนาจากเทพยดาและพรหมทั้งหลาย ทรงจุติจากทิพยอุทยานในดุสิตเทวโลก ลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระนางสิริมหามายา อันเป็นสมัยอาสาฬหนักขัตตฤกษ์ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนแปด ครั้นครบถ้วนทศมาสอันเป็นสมัยวิสาขนักขัตตฤกษ์ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนหก จึงคลอดออกจากครรภ์พระราชมารดา ครั้นจำเริญพระชันษาได้ ๑๖ ปี ทรงเสวยราชสมบัติพร้อมด้วยพระยโสธราพิมพาเทวี เมื่อเสวยราชสมบัติมาได้ ๑๓ ปี ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้พบนิมิตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต จึงทรงสละราชสมบัติออกมหาภิเนษกรม บำเพ็ญตนเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ ครั้นลุถึงวิสาขปุณมี ปีระกา เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุสมัย ครั้นถึงวันปัณณรสี ขึ้น ๑๕ ค่ำ อาสาฬหมาส ทรงประทานปฐมเทศนา พระธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายได้ ๖ พรรษาแล้ว ได้ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เพื่อทรมานเดียรถีร์ ณ ภายใต้ต้นมะม่วงชื่อ กัณฑัมพพฤกษ์ ใกล้นครสาวัตถี เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จขึ้นสู่ดาวดึงส์เทวโลก แล้วประทับนั่งบนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ แสดงพระอภิธรรมตลอดพรรษากาล ตามประวัติแห่งนิทานข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระอภิธรรมบริบูรณ์ด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ ดังกล่าว และเป็นธรรมดาที่พระอภิธรรมมิได้ปรากฏแต่ในสมัยนี้เท่านั้น สมัยใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก สมัยนั้นก็มีพระอภิธรรมปรากฏ และนอกจากพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีผู้ใดสามารถจะแสดงพระอภิธรรมให้ปรากฏขึ้นในโลกได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักพรต ฤาษี ผู้มีฤทธานุภาพ หรือแม้แต่พระอัครสาวก มหาสาวก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม ถ้ามิได้สดับพระสัทธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนแล้ว ก็จะไม่สามารถแสดงได้เลย by: เพชรงาม น้ำหนึ่ง
10/02/2013
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment