นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
บนพื้นโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด มากมายเหลือที่จะนับ
มีทั้งที่เราเคยเห็นและไม่เคยเห็น ที่มีรายกายใหญ่โตอย่างช้างก็มี ที่มีร่างกายเล็กอย่างมดหรือ
เล็กยิ่งกว่ามดก็มี ที่มีร่างกายละเอียดเกินกว่าที่ตามนุษย์จะเห็นได้ เช่นเทวดาก็มี
สัตว์บางพวกมีรูปร่างสวยงาม น่าทัศนา บางพวกมีรูปร่างน่าเกลียด ไม่ชวนมอง
บางพวกก็มีรูปร่างแปลกๆจนดูน่าขัน
สัตว์นอกจากจะมีมากมายหลายชนิด และมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างกันแล้ว ยังมีอุปนิสัยจิตใจ
แตกต่างกันด้วย บางพวกมีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตากรุณา บางพวกดุร้าย ใจแคบ บางพวกใจกว้างเอื้อ
เฟื้อเผื่อแผ่อารีอารอบ ฯลฯ ไม่มีสัตว์ชนิดใดเลยที่เหมือนกันทุกอย่าง แม้ลูกฝาแฝดที่ว่ามีรูปร่างหน้าตา
คล้ายกันมากที่สุด ก็ยังไม่เหมือนกันทุกส่วน ถ้าเหมือนกันทุกส่วนแล้ว เราจะไม่ทราบเลยว่าใครเป็นพี่
ใครเป็นน้อง นอกจากนั้น นิสัยใจคอของฝาแฝดก็มิได้เหมือนกัน
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเกิดมาด้วยกรรม และดำเนินไปตามกรรมที่ตนทำไว้ มีกรรม
จำแนกให้ผิดแผกแตกต่างกัน
ในน้ำมี กุ้ง ปู เต่า ปลา และสัตว์น้อยใหญ่ที่เรารู้จัก และไม่รู้จักอีกมากมาย
บนบกมี มนุษย์ ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น
ในอากาศมี นก ผีเสื้อ และแมลงต่างๆ
นอกจากนั้นก็ยังมีเทพบุตร เทพธิดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก
ในบรรดาสัตว์เหล่านั้น มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่สุด ที่ประเสริฐที่สุดเพราะมนุษย์มีโอกาส
ทำความดีได้ทุกชนิด ตั้งแต่ความดีเล็กน้อย ไปจนถึงความดีขั้นสูงสุด คือการบรรลุมรรค ผล นิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก" แต่การดำเนินชีวิต
ให้ถูกทางเมื่อมาแล้วยังยากกว่า เพราะถ้าดำเนินชีวิตไม่ถูกทางแล้วชีวิตในอนาคตมีแต่จะตกต่ำลง
ยากนักที่จะมีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ในเมื่อตายไป
การเกิดเป็นมนุษย์ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างนำเกิดฉันใด การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเมื่อเกิด
มาแล้ว ก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างฉันนั้น
การเกิดเป็นมนุษย์ต้องอาศัย บุญ มีทานเป็นต้นนำเกิด
การดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยสมบัติ ๔ อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า จักกะ ๔ หรือ
จักร ๔ เป็นสำคัญผู้ใดมีจักร ๔ อย่างนี้ ย่อมได้รับโภคทรัพย์ ยศ ชื่อเสียง ความสุขและความเจริญ
ตลอดชีวิต
จักร ๔ อย่าง คือ
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ การได้อยู่ในประเทศที่สมควร
คำว่า ประเทศที่สมควร นั้นได้แก่ สถานที่ หรือถิ่นที่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แผ่ไปถึง หรือเป็นที่อยู่ หรือเป็นที่ผ่านไปมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
พระสงฆ์สาวก หรืออุบาสก อุบาสิกา ผู้นับถือพระรัตนตรัย
ลองพิจารณาดูเมืองไทยที่ได้ชื่อว่า ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาบ้าง บางแห่งก็ไม่มีพระสงฆ์
สาวกของพระพุทธเจ้าอาศัยอยู่ หรือจาริกผ่านไป บางแห่งมีวัดก็ไม่มีพระสงฆ์ ต้องการจะทำบุญ ถวาย
ทานสักครั้ง ก็หาภิกษุผู้รับทานไม่ได้ แม้การทำทานก็ยังยาก จะป่วยกล่าวไปไยกับการรักษาศีล หรือเจริญ
ภาวนา ที่ใดที่กุศลเกิดได้ยาก ที่นั้นไม่ชื่อว่าประเทศที่สมควร
ผู้ที่อยู่ในถิ่นที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปไม่ถึงนั้นน่าสงสารมาก แม้การหาเลี้ยงชีพจะไม่ฝืดเคือง
มีอาหารบริโภคสมบูรณ์ แต่เขาก็ดำเนินชีวิตไปตามยถากรรม โดยไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร
อะไรทำแล้วเป็นบุญ อะไรทำแล้วเป็นบาป สักแต่ว่าทำตามๆกัน อย่างที่บรรพบุรุษเคยทำมา
แม้คนที่อยู่ในถิ่นที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง แต่ไม่สนใจศึกษาหรือสดับพระธรรมคำสอนของ
พระพุทธเจ้า ก็ไม่ผิดอะไรกับคนป่าคนดอย
คนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนานั้น เวลามีทุกข์ก็แสวงหาวิธีดับทุกข์ที่ไม่ถูกทาง
บางคนอาศัยอบายมุข มีการพนันเป็นต้น เป็นเครื่องดับทุกข์
บางคนบนบาน เทวดา ผีสาง นางไม้ เจ้าป่า เจ้าเขาให้ช่วย
บางคนคิดว่า ตายเสียได้คงพ้นทุกข์ จึงได้ฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ
ผู้ที่แสวงหาสิ่งดังกล่าวแล้วเป็นต้นนี้ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ดับทุกข์ ชื่อว่าแสวงหาที่พึ่งผิด
ทาง เพราะที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ ไม่ใช่ที่พึ่งที่อาจดับทุกข์ได้ตลอดไป
เพราะอะไร
เพราะตัวของผู้เป็นทุกข์เองก็มีสภาพไม่เที่ยง ยังต้องมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แตกดับ
เป็นธรรมดา สิ่งที่ยึดเอาเป็นที่พึ่งนั้นเล่าก็ไม่เที่ยง มีความแตกดับเป็นธรรมดาเช่นเดียวกัน สิ่งที่มี
สภาพไม่เที่ยง แตกดับด้วยกัน จะดับทุกข์ของกันได้ตลอดไปได้อย่างไร
บางคนมีทุกข์ไม่ได้แสวงหาที่พึ่งดังกล่าวนั้น แต่อาศัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นที่พึ่ง คนเช่นนี้ชื่อว่าแสวงหาที่พึ่งที่ถูกทาง แสวงหาเครื่องดับทุกข์ที่ถูกทาง
เพราะอะไร
เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ ประการนี้ชื่อว่าที่พึ่งอันประเสริฐ ชื่อว่าที่พึ่งอัน
สูงสุด ชื่อว่าที่พึ่งอันเกษม เพราะเป็นที่พึ่งที่เป็นปัจจัยให้เข้าถึงความเกษม คือพระนิพพาน อันไม่มี
ความแตกดับ ก้าวล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ธรรมบท พุทธวรรค ข้อ ๒๔ ว่า "มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก
ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถือเอาภูเขา ป่า อาราม และรุกขเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด บุคคลอาศัยสิ่งเหล่านั้นแล้วย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนผู้ใดมาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์, สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์, นิโรธ ธรรมเป็นเครื่องดับทุกข์, และอริยมรรคอันประกอบด้วย
องค์ ๘ อันเป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ นั่นเป็นที่พึ่งอันเกษม นั่นเป็นสูงสุด
บุคคลอาศัยพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว ยังพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"
เพราะฉะนั้น การอยู่ในประเทศที่สมควร ประเทศที่มีพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง จึงเป็นอุดมมงคล
เป็นเหตุให้เกิดความเจริญ เป็นปัจจัยให้เราดำเนินชีวิตได้ถูกทางประการหนึ่ง
๒. สัปปุริสูปัสสยะ การเข้าไปอาศัยสัตบุรุษ หรือการคบหาสัตบุรุษ
อย่าว่าแต่คนที่อยู่ในดินแดนที่ไม่สมควรเลย ที่จะแสวงหาที่พึ่งอันไม่ถูกทาง แม้คนที่อยู่ใน
ประเทศที่สมควร บางครั้งและบางคนก็ยังแสวงหาที่พึ่งไม่ถูกทางเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะเขามิได้เข้าไป
คบหา สนทนากับสัตบุรุษผู้รู้ทั้งหลาย เขาจึงไม่มีโอกาสทราบว่า สิ่งใดควรประพฤติ สิ่งใดไม่ควรประพฤติ
สิ่งใดมีโทษ สิ่งใดไม่มีโทษ สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น การคบหาสัตบุรุษจึงเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ ๒ ในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง
สัตบุรุษนั้น ได้แก่ผู้สงบ คือ สงบจากกายทุจริต สงบจากวจีทุจริต สงบจากมโนทุจริต
อันเป็นบาปอกุศล
กายทุจริตการประพฤติชั่วทางกาย มี ๓ อย่าง คือ การฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น ๑
การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยเจตนาคิดจะลัก ๑ การประพฤติผิดประเวณี ๑
วจีทุจริตการประพฤติชั่วทางวาจา มี ๔ อย่าง คือ การพูดเท็จ ๑ การพูดส่อเสียด ให้ผู้อื่น
แตกแยกกัน ๑ การพูดคำหยาบ ๑ การพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ ๑
มโนทุจริตการประพฤติชั่วทางใจ มี ๓ อย่าง คือ อภิชฌา การคิดเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
มาเป็นของตน ๑ พยาบาท การคิดให้ผู้อื่นพินาศ ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล เป็นต้น ๑
สัตบุรุษนั้นเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อกรรมและผลของกรรม
เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้มีศีล เป็นผู้มีพาหุสัจจะ คือ สดับฟังตรับฟังมาก มีหิริ ความ
ละอายบาป มีโอตตัปปะ ความกลัวบาป มีจาคะ ยินดีในการให้ไม่ตระหนี่ และมีปัญญารู้จัก อะไรควร
ไม่ควรตลอดจนมีปัญญาพาตนให้พ้นทุกข์ได้
พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวก ตลอดจนผู้ตั้งอยู่ในศีล ในธรรม
ชื่อว่าสัตบุรุษ ในบรรดาสัตบุรุษเหล่านั้น พระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด
พระพุทธเจ้านั้นเกิดขึ้นได้แสนยาก นานนักหนาว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้สักพระองค์
หนึ่ง การบังเกิดขึ้นของพระองค์นำมาซึ่งประโยชน์ และความสุขแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อย่าง
หาประมาณมิได้ พระองค์ทรงชี้ทางให้สัตว์ทั้งหลายได้เข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ และมรรค ผล นิพพาน
เป็นจำนวนมาก
การได้ฟังพระสัทธรรม คือคำสั่งสอนของพระองค์ก็ยากเพราะเราอาจจะไปเกิดเสียในทุคติมี
นรกเป็นต้น หรือแม้ได้เกิดในสุคติมีมนุษย์เป็นต้น ก็ไม่แน่ว่าเราจะได้มีโอกาสฟังธรรมของพระองค์หรือ
ไม่ ทั้งนี้เพราะใจของสัตว์นั้นมากด้วยความยินดีต้องการ แต่พระองค์ทรงสอนให้ละความยินดีความต้อง
การ เป็นการทวนกระแสกิเลส ผู้ฟังที่ขาดปัญญาบารมี จึงมิได้สนใจคำสอนของพระองค์เท่าที่ควร
เมื่อไม่สนใจก็ประพฤติผิดทาง
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ในโลกนี้ คนที่เห็นแจ้งมีน้อย สัตว์ที่ไปสวรรค์มีน้อย
เหมือนนกพ้นจากข่ายมีน้อย"
และตรัสว่า "คนที่ไปถึงฝั่งคือพระนิพพานมีน้อย ส่วนมากมักเลาะอยู่ริมฝั่ง"
ผู้ใดได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วประพฤติตาม ย่อมได้รับความสุขชั่วนิรันดร
พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ควรบูชา ใครๆไม่ควรดูหมิ่นว่า
บุญที่เกิดจากการบูชาพระองค์และสาวกของพระองค์เป็นบุญเล็กน้อย เพราะว่าการบูชาบุคคล
ที่ควรบูชา ผู้เช่นกับด้วยพระองค์และสาวกของพระองค์ผู้หมดจดจากกิเลสนั้น ใครๆ ไม่อาจ
ประมาณบุญนั้นได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้
เมื่อสัตบุรุษท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณความดีดังกล่าวนี้ ท่านก็ปรารถนาให้ผู้อื่นได้เป็น
เช่นเดียวกับท่าน เมื่อผู้ใดเข้าไปหาท่าน ท่านก็ย่อมจะสอนให้ผู้นั้นได้ตั้งอยู่ในคุณความดีเช่นเดียวกับ
ท่าน นั่นคือสอนให้ละชั่ว ประพฤติดี ได้แก่ละบาปทุจริต ประพฤติกุศลสุจริต
ปัจจุบันนี้แม้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว แต่พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา ผู้ตั้งอยู่ในศีล ในธรรม มั่นคงในพระรัตนตรัย ยังมีอยู่ ท่านเหล่านี้
เป็นสัตบุรุษที่เราควรเข้าไปคบหาสมาคม และดำเนินรอยตามท่าน
การคบหาสัตบุรุษ จึงเป็นปัจจัยประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตให้ถูกทาง
๓. อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ
แม้การคบสัตบุรุษจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตให้ถูกทาง แต่ถ้าเป็นแต่
เพียงเข้าไปคบหา มิได้สนใจที่จะประพฤติตามคำสอนของท่านแล้ว การคบหานั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด
ในเมื่อเรามิได้ตั้งตนไว้ชอบ คือมิได้ตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ คือสุจริตธรรม ๑๐ ประการ มีการงดเว้น
จากการฆ่าสัตว์เป็นต้น
ก็สุจริตธรรม ๑๐ ประการ หรือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ชื่อว่าธรรมของมนุษย์
เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วมีกุศลกรรมบถไม่ครบ ๑๐ จะชื่อว่าเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้อย่างไร
ก็คำว่า "มนุษย์" นั้นแปลว่า ผู้มีใจสูง คือสูงด้วยคุณธรรม มีเมตตากรุณา ไม่ฆ่าสัตว์
ไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นต้น ทั้งเป็นผู้จักเหตุที่สมควรและไม่สมควร เป็นผู้รู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไร
ไม่เป็นประโยชน์ และอะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นกุศล ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ก็ไม่ต่างกับสัตว์
เดียรัจฉาน
มนุษย์ที่มีจิตใจเป็นมนุษย์ ท่านเรียกว่า มนุสสมนุสโส
มนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนเปรต คือหิวกระหาย อยากได้ ต้องการ อยู่เสมอ ไม่อิ่ม ไม่เต็ม
ท่านเรียกว่า มนุสสเปโต
มนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนเดียรัจฉาน ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เอาแต่ กิน นอน และสืบพันธุ์เท่านั้น
ท่านเรียกว่า มนุสสติรัจฉาโน
มนุษย์ที่มีจิตใจเหมือนเทวดา คือรู้จักละอายบาปและกลัวบาป รื่นเริงบันเทิงอยู่ ท่านเรียกว่า
มนุสสเทโว
มนุษย์จึงควรมีศีล ๕ เป็นอย่างต่ำ มีกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นอย่างสูง ส่วนใครสามารถ
จะทำฌาน วิปัสสนา มรรค ผล อันเป็นอุตตริมนุสสธรรม คือธรรมที่ยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์
ให้เกิดได้ ยิ่งประเสริฐ
คนในสมัยพุทธกาลเป็นจำนวนมาก ที่ได้เกิดในประเทศที่สมควร คือเกิดในดินแดนของ
พระพุทธศาสนาในสมัยที่พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เข้าไปคบหา
ใกล้ชิดพระองค์ ได้ฟังธรรมของพระองค์ แต่ยังคงประพฤตินอกลู่ นอกทาง ผิดศีล ผิดธรรม อย่างนี้ชื่อ
ว่าตั้งตนไว้ผิด ดังพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง เมื่อตั้งต้นไว้ผิด ชีวิตของเขาจะพบกับความสุขความเจริญ
ได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง" คือบอกทางสวรรค์
และ มรรค ผล นิพพาน ให้เท่านั้น ส่วนการดำเนินชีวิตให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้น ท่านทั้งหลาย ต้องประ
พฤติด้วยตนเอง
๔. ปุพเพ กตปุญญตา การได้ทำบุญไว้ในปางก่อน เป็นจักรข้อที่ ๔ ที่จะสนับสนุนให้
เราดำรงชีวิตอยู่ในทางที่ชอบ กอปรด้วยประโยชน์
การเกิดเป็นมนุษย์ในชาตินี้ ก็อาศัยบุญที่ได้ทำไว้ในปางก่อน คือในชาติที่ล่วงมาแล้วนำเกิด
เมื่อมีชีวิตอยู่ มีโอกาสได้อยู่ในถิ่นที่สมควร ได้พบพระพุทธศาสนา ได้คบหาสัตบุรุษและฟังธรรมจากท่าน
ทำให้ตั้งตนไว้ชอบ สนใจในการทำบุญกุศล ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติ เพื่อบรรลุ มรรค ผล นิพพาน
อันเป็นกุศลสูงสุด ก็ล้วนอาศัย บุญ ที่ได้เคยทำไว้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ได้รับผลสำเร็จทั้งสิ้น
ถ้าขาดบุญเสียแล้ว ท่านจะไม่มีโอกาสได้รับสิ่งเหล่านี้เลย
หากยังต้องเกิดอีกตราบใด บุญที่ทำไว้ในชาติก่อนๆที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล รวมกับบุญ
ที่ทำใหม่ในชาตินี้ ก็ยังติดตามไปให้ผลในชาติต่อไปด้วย
สิ่งทั้งหลายที่เราปรารถนาและแสวงหามาไว้ ล้วนอยู่กับเราผู้เป็นเจ้าของไม่นานเลย ของเหล่า
นั้นแม้จะเป็นที่รักสักเพียงใด ก็ไม่อาจติดตามเจ้าของไปภพหน้าได้ แม้เมื่อเจ้าของยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่แน่
ว่าของนั้นจะอยู่กับเจ้าของตลอดไป อาจสูญหาย หรือถูกทำลายไปด้วยไฟบ้าง ด้วยโจรบ้าง ด้วยน้ำบ้าง
ด้วยผู้มีอำนาจบ้าง ด้วยการล้างผลาญของทายาทที่มีความประพฤติไม่ดีบ้าง ฯลฯ
ส่วนบุญมิได้เป็นเช่นนั้น ใครๆไม่อาจทำลายบุญให้สูญหายไปได้ แม้โจรก็ลักไปไม่ได้
ไฟไหม้ไม่ได้ น้ำท่วมไม่ได้ ถูกผู้มีอำนาจริบไม่ได้ หรือถูกทายาทที่มีความประพฤติไม่ดีล้างผลาญ
ไม่ได้ ฯลฯ แม้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว บุญนั้นสามารถติดตามไปให้ความสุขแก่เจ้าของในภพหน้าได้ด้วย
เพราะเหตุนั้น บุญ ที่ทำไว้ จึงเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิตของเรา ให้พบกับความสุขและความ
สำเร็จ ประการหนึ่ง
ในทางตรงกันข้าม บาปที่บุคคลสั่งสมไว้ในปางก่อน ก็เป็นปัจจัยให้พบกับความทุกข์และความ
ผิดหวังนานาประการ ทั้งยังติดตามไปให้ความทุกข์แก่ผู้กระทำในภพหน้าด้วย
ผู้มีปัญญาจึงเพียรละบาป เร่งบำเพ็ญบุญ
เรื่องของการทำความดี คือบุญกุศลนั้น เมื่อมีจิตเลื่อมใสศรัทธาแล้ว อย่ารีรอจงทำทันที เพราะ
จิตนั้นกลับกลอกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนัก มีปกติไหลไปหาบาป ทั้งเราไม่อาจรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร
เราอาจจะตายเสียในขณะที่ยังรีรออยู่ก็ได้
ชีวิตนั้นยังพอประกันได้ แต่ไม่มีใครสามารถประกันศรัทธาของใครได้ ว่าให้ตั้งอยู่
นานเท่านั้นเท่านี้แม้ท่านผู้ทรงฤทธิ์ เป็นพระอรหันต์อย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ยังไม่อาจ
ประกันศรัทธาของอุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านได้
มีเรื่องเล่าไว้ใน สุปปาวาสาสูตร ขุททกนิกาย อุทาน ข้อ ๖๒ ตอนหนึ่งว่า . . . . . .
พระนางสุปปาวาสาโกลิยธิดา ประสูติพระโอรสแล้ว ทรงปรารถนาจะถวายภัตตาหารแด่
พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์สาวกสัก ๗ วัน เมื่อทรงส่งคนไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่อาจ
ทรงรับนิมนต์ได้ในทันที เพราะอุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลนิมนต์ไว้
ก่อนแล้ว จึงตรัสสั่งให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะบอกเรื่องนี้แก่อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่าน อุบาสกนั้น
กล่าวว่า ถ้าท่านพระมหาโมคคัลลานะสามารถประกันโภคสมบัติ ชีวิตและศรัทธาของท่านได้ ท่านก็ยอม
ตกลง ท่านพระมหาโมคคัลลานะยอมประกันแต่โภคสมบัติ และชีวิตของอุบาสกนั้นเท่านั้น แต่ไม่อาจประ
กันศรัทธาของอุบาสกได้
เมื่ออุบาสกนั้นเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะประกันโภคสมบัติและชีวิตของตน ว่าจะไม่เป็น
อันตรายใน ๗ วัน จึงได้ยินยอมให้พระนางสุปปวาสาถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกก่อน ตน
จะถวายภายหลัง ทั้งนี้เพราะมั่นใจว่าศรัทธาของตนที่มีต่อพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก จะไม่หวั่นไหว
เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น
สรุปว่าไม่มีใครอาจประกันจิตที่เป็นกุศลของใครได้ว่า จะไม่เปลี่ยนเป็นอื่น เพราะจิตนั้นเกิดดับ
รวดเร็ว กลับกลอกรักษาได้ยาก แต่ผู้ที่สามารถผึกจิตที่กลับกลอก รักษาได้ยากให้อยู่ในอำนาจได้ คือให้
ตั้งอยู่ในกุศลได้แล้ว เป็นความดีเพราะจิตที่บุคคลฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้
แต่จิตที่บุคคลตั้งไว้ผิด คือตั้งไว้ในบาปอกุศล มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมนำ
ความทุกข์และความพินาศมาให้ แม้คนที่มีเวรต่อกัน ก็ยังนำความทุกข์และความพินาศมาให้น้อย
กว่าจิตที่ตั้งไว้ผิด
มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า จิตของมนุษย์เมื่อเริ่มเกิด คือถือกำเนิดในครรภ์มารดานั้น
บริสุทธิ์ ไม่มีความต้องการใดๆ แต่เมื่อโตขึ้นจิตก็เศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสมีโลภะเป็นต้นจรมารบกวน
ทำให้ต้องการสิ่งโน้นสิ่งนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
จริงอยู่ พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน อํ. เอกนิบาต ข้อ ๕๐ ว่า จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนี้เศร้า
หมองแล้ว ด้วยอุปกิเลสที่จรมา
คำว่า จิตปภัสสร ที่แปลกันว่า จิตผุดผ่อง นี้ ก็มีความหมายเพียงผุดผ่องเท่านั้น มิได้หมาย
ไกลไปถึงว่าบริสุทธิ์ เพราะจิตบริสุทธิ์นั้นหมายถึงจิตที่ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง
แต่จิตผุดผ่องมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีกิเลสอย่างละเอียดคืออนุสัยกิเลสตามนอนอยู่ ด้วย
เหตุที่ยังละไม่ได้ ก็อนุสัยกิเลสนี้ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง หากเชื้อคืออนุสัยกิเลสยังนอนสงบนิ่งอยู่ตราบใด
จิตนี้ผุดผ่องอยู่ตราบนั้น จิตผุดผ่องนี้คือภวังคจิต ที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติคือความเป็นมนุษย์เอาไว้เป็น
จิตที่รับอารมณ์ที่ได้รับมาจากภพเก่าคือชาติก่อน ยังมิได้ขึ้นสู่วิถี ทำหน้าที่เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และรู้ธัมมารมณ์ ต่อเมื่อใดอารมณ์ใหม่มาปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เมื่อนั้นจิตก็ขึ้นวิถีทำหน้าที่เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง และรู้ธัมมารมณ์ หาก
ไม่สำรวมจิตให้ดี คือขาดสติหลงใหลไปในอารมณ์เหล่านั้นอุปกิเลสก็จะจรเข้ามา ทำให้จิตเศร้าหมองทันที
ด้วยเหตุนี้ ภวังคจิตจึงไม่ผิดกับน้ำที่มองดูใส แต่มีตะกอนนอนอยู่ข้างล่าง เมื่อมีอะไร
มากวน น้ำนั้นก็ขุ่นทันที
น้ำที่มีตะกอนนอนอยู่ข้างล่าง มองดูใสสะอาดฉันใด ภวังคจิตที่มีอนุสัยนอนสงบอยู่ก็ดู
ผุดผ่องฉันนั้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จิตของทารกแรกเกิดจึงมิได้บริสุทธิ์ เพราะถ้าจิตของทารกบริสุทธิ์แล้ว
ไซร์ ทารกนั้นก็ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เป็นพระอรหันต์มาตั้งแต่เกิด แต่พระอรหันต์นั้นเมื่อปรินิพพาน
แล้ว ท่านไม่เกิดอีก เพราะท่านดับอนุสัยกิเลสอันเป็นเชื้อที่จะทำให้เกิดได้หมดแล้ว
ในทางพระพุทธศาสนานั้นแสดงว่าผู้ที่มาเกิด ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ผู้นั้นคือผู้ที่ยังไม่หมด
กิเลส จิตยังไม่บริสุทธิ์ เพราะถ้าจิตบริสุทธิ์หมดกิเลสแล้วจะมาเกิดอีกไม่ได้ นอกจากนั้นยังแสดงว่า
ผู้ที่เกิดขึ้นในภพใหม่นั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่เป็นครั้งแรกต่อภวังคจิต
คือโลภะจิตที่ประกอบด้วยความยินดีในภพที่ตนเกิด ต่อแต่นั้นจิตอื่นมีกุศลเป็นต้นจึงจะเกิดได้ ทั้งนี้
ไม่เว้นแม้แต่พระอนาคามีผู้เกิดในพรหมโลก
การร้องไห้ของทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาก็ดี ร้องไห้เพราะต้องการนมก็ดี ล้วนแต่แสดงว่า
ทารกนั้นมีกิเลสทั้งสิ้น จริงอยู่ เด็กไม่อาจแสดงออกซึ่งกิเลสหยาบมีการตีการด่า เป็นต้นได้ แต่เด็กก็แสดง
ออกซึ่งกิเลสที่มีอยู่ในใจให้ผู้อื่นรู้ว่า เขาชอบใจ ไม่ชอบใจ อยากได้ ไม่อยากได้ เป็นต้น
ก็กิเลสที่มีอยู่ในใจนั้นมาจากไหนเล่า ถ้าหากว่าไม่มีเชื้อ คืออนุสัย ตามนอนอยู่ในสันดาน คือ
ความสืบต่อของจิตแล้ว กิเลสอย่างกลางที่คอยกลุ้มรุมจิตใจให้เร่าร้อน และกิเลสอย่างหยาบที่แสดงออกทาง
กายทางวาจา มีการตีการด่าเป็นต้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เพราะมีอนุสัยอันเป็นกิเลสอย่างละเอียดเป็น
เชื้ออยู่ กิเลสอย่างกลางและอย่างหยาบจึงเกิดได้
ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจที่ว่า จิตของมนุษย์แรกเกิดบริสุทธิ์จึงไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเรายังละเชื้อ
คืออนุสัยยังไม่ได้ตราบใด อนุสัยนั้นก็ติดตามเราไปทุกชาติตราบนั้น ทำให้เกิดในภพใหม่อยู่ร่ำไป ทั้งยังทำให้
จิตใจของเราผู้เกิดแล้ว ต้องเศร้าหมองด้วยความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง
พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ
(คือจิต) ถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น
เพราะทุจริต ๓ อย่าง เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวลากเกวียนไปฉะนั้น
เพราะฉะนั้นจึงควรติดตามดูจิต เพื่อมิให้ตกไปในอกุศล ด้วยการกำหนดรู้สภาพของจิต
ที่เกิดขึ้นทุกขณะ
เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์แล้วดำรงชีวิตให้ถูกทาง คือให้อยู่ในบุญกุศลนั้น
แสนยาก เพราะต้องคอยประคับประคองจิตไม่ให้ตกไปในบาปอกุศล หากใจเป็นบาปอกุศลแล้วโอกาสที่
ความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ คืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ อันมิใช่ธรรมของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้น
ได้ง่าย การรักษาใจเพียงอย่างเดียวชื่อว่ารักษากายและวาจาด้วย
ในจำนวนคนเป็นล้านๆ มีกี่คนที่รักษาใจไว้มิให้ตกไปในบาปอกุศล แม้คนที่ศึกษาธรรมมาอย่าง
ดี รู้โทษของอกุศลแล้ว ก็ยังยากที่จะทำใจให้เป็นกุศลได้ตลอดเวลา เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จิต
หรือใจก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร เราจึงไม่อาจบังคับจิตของเราให้เป็นกุศลตลอดไปได้ กุศล
และอกุศลเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยและความคุ้นเคย กล่าวคือ ถ้าจิตคุ้นเคยอยู่กับบุญกุศล บุญกุศล
ก็เกิดได้ง่าย แต่ถ้าจิตคุ้นเคยกับอกุศล อกุศลก็เกิดได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ควรพยายามสั่งสมกุศลให้มา
เพื่อให้จิตคุ้นเคยกับกุศล โดยเฉพาะกุศลขั้นภาวนาเพราะกุศลขั้นภาวนาเท่านั้น ที่ช่วยรักษาจิตมิให้ตกไป
ในบาปอกุศลได้ การตามรู้สภาพของจิตตามความเป็นจริงนี้ จะช่วยให้เรารู้ว่าขณะนี้จิตเป็นกุศล หรือจิต
เป็นอกุศล เมื่อรู้ว่าเป็นกุศลก็พยายามรักษาไว้และเจริญให้มากขึ้น แต่ถ้ารู้ว่าจิตเป็นอกุศลก็พยายามละ
และระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก
การฝึกจิตให้คุ้นเคยกับกุศลนั้นทำอย่างไร ไม่ยากเลย ขอเพียงอย่าปล่อยกุศลเล็กๆน้อยๆผ่าน
ไปโดยไม่ใส่ใจ หรือดูหมิ่นว่าเป็นกุศลเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งไม่ถูกต้อง กุศลทุกชนิดไม่ควรละเลย
เช่นเราเห็นมดลอยน้ำอยู่ในน้ำ โอกาสที่เราจะช่วยให้มดรอดตายมีอยู่ จะโดยการใช้มือช้อนขึ้นมา
หรือใช้ไม้เขี่ยให้พ้นน้ำก็ได้ แต่เราไม่ได้ทำ เพราะคิดว่าธุระไม่ใช่ มดไม่ใช่ลูกหรือพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเรา
หรือคิดว่าการช่วยมดไม่ทำให้เราได้รับประโยชน์อันใด ถึงจะได้บุญ ก็ได้บุญเล็กน้อย เสียเวลา เอาไว้ทำบุญ
ใหญ่ๆดีกว่า แล้วก็ละเลยเสีย ไม่ได้คิดว่านั่นเป็นโอกาสที่จะได้ทำกุศลแล้ว กลับปล่อยให้กุศลที่จะเกิดผ่านไป
เสียด้วยความประมาท ความจริงแล้วมดก็มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับมนุษย์ กลัวตายเหมือนมนุษย์ ทั้งหมดนั้น
อาจเป็นพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเราในอดีตก็ได้ ใครจะรู้ว่าในวัฏฏสงสารอันยืดยาวนี้ เราและสัตว์ทั้ง
หลายมีความผูกพันกันอย่างไร จึงไม่ควรดูดาย คนที่ตกน้ำแลัวช่วยตนเองไม่ให้จมน้ำตายไม่ได้ ย่อมกลัว
ตายอย่างไร มดก็กลัวจมน้ำตายอย่างนั้นการช่วยให้มดรอดชีวิตจึงไม่ใช่กุศลเล็กน้อย แต่เพราะประมาทดูหมิ่น
ว่าเป็นกุศลเล็กน้อย กุศลก็เกิดไม่ได้ มิหนำซ้ำอกุศลยังเกิดแทนอีกด้วย
หรือเพียงเราเดินไปตามถนนหนทาง พบเศษกระเบี้องหรือเศษแก้วทิ้งอยู่บนทางเดิน พบแล้ว
ก็มิได้เดินผ่านไปเฉยๆ ได้เก็บเศษแก้วแตกนั้นออกไปให้พ้นทางเดิน ด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตากรุณา
ต้องการให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้รับความปลอดภัย ไม่ถูกกระเบื้องแตกตำเท้าให้บาดเจ็บ ซึ่งบางคร้งเมื่อ
ถูกตำแล้วไม่รักษาให้ถูกต้อง ปล่อยให้สกปรก อาจเป็นบาดทะยักถึงตายได้ การทำอย่างนี้ ก็เป็นบุญเป็น
กุศล ซึ่งบางคนอาจคิดว่าเป็นบุญเล็กน้อยจึงละเลย ความจริงหาได้เล็กน้อยไม่ เพราะเป็นประโยชน์แก่คน
เป็นอันมาก
ถ้าเราหมั่นฝึกจิตของเราให้ไม่ละเลยต่อกุศล แม้เล็กน้อยอย่างนี้บ่อยๆ จิตใจของเราจะคุ้นเคย
กับกุศล จนกุศลสามารถเกิดได้บ่อยและง่ายขึ้น อกุศลหาโอกาสแทรกได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรปล่อยให้
กุศลเล็กน้อยผ่านไป อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่าบุญมีประมาณน้อย จัก
ไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดๆ ฉันใด นักปราชญ์สั่งสมบุญ
แม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ฉันนั้น"
ในทางตรงกันข้าม เราก็ไม่ควรดูหมิ่นบาปเล็กน้อยว่าจะไม่เพิ่มมากขึ้น ในเมื่อเราทำบาปนั้น
บ่อยๆ และเมื่อทำบ่อยๆ จิตใจก็คุ้นกับบาป เป็นเหตุให้บาปเกิดได้ง่ายและบ่อยขึ้น
ลองสังเกตดูเด็กที่ขาดการอบรมสั่งสอน มักชอบรังแกและฆ่าสัตว์เล็กๆโดยเห็นเป็นของสนุก
เมื่อโตขึ้นก็สามารถฆ่าสัตว์ใหญ่ตลอดจนมนุษย์ได้อย่างสบาย โดยไม่มีความละอายและเกรงกลัวบาป
เห็นการกระทำความชั่ว การกระทำบาปเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้ก็เพราะ จิตใจของเขาคุ้นเคยกับบาปมา
ตั้งแต่เยาว์
บางคนชอบลักเล็กขโมยน้อย หยิบฉวยทรัพย์สินของผู้อื่น ทั้งที่เป็นของสาธารณะ และของส่วน
บุคคลจนเคยชิน สายไฟ หลอดไฟตามถนนหนทางถูกขโมย ต้นไม้ที่มีผลยื่นออกมานอกรั้ว หรือแม้จะอยู่
ภายในรั้ว มีเจ้าของหวงแหนและระแวดระวัง ก็ถูกคนจำพวกนี้หยิบฉวย เก็บเอาไปทั้งต่อหน้าและลับหลัง
โดยขาดความละอายใจ ว่าตนได้ละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
คนเหล่านี้หวงแหนชีวิตและทรัพย์สินของตน ใครมาทำลายชีวิตและทรัพย์ของตนก็โกรธคิดอาฆาต
พยาบาท แต่ร่าเริงบันเทิงใจ เมื่อได้ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบธรรม ลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ว่าเรารักชีวิตและทรัพย์สินของเราอย่างไร ผู้อื่นก็รักชีวิตและทรัพย์สินของเขาอย่างนั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่ามีประมาณน้อยจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อม
เต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดๆฉันใด คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาปฉันนั้น"
เพราะฉะนั้นจงสั่งสมบุญ ละเว้นบาป
ด้วยเหตุที่การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เพราะต้องอาศัยบุญนำเกิด เมื่อได้ความเป็นมนุษย์มา
แล้ว ก็ควรใช้ชีวิตให้ถูกต้อง ให้สมกับที่ได้มาโดยยาก และให้สมกับที่ได้รับสมญาว่า "ผู้มีใจสูง" ผู้มีใจสูง
ย่อมตั้งตนไว้ในบุญกุศล คือ ทาน ศีล ภาวนา ไม่ปล่อยตนให้ตกไปในบาปอกุศล เพราะถ้าประมาทพลาด
พลั้งไปกับบาปอกุศลแล้ว โอกาสที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้นยากนัก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี ตอนหนึ่งว่า
"สัตว์ที่จุติคือตายจากมนุษย์กลับมาเกิดในมนุษย์มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปเกิดในนรกเกิด
ในกำเนิดเดียรัจฉาน เกิดในปิตติวิสัย มากกว่าโดยแท้"
ถ้าไม่อยากไปเกิดในนรก ในกำเนิดเดียรัจฉาน ในปิตติวิสัย ก็จงตั้งตนไว้ในธรรมของมนุษย์
คือกุศลกรรมบถ ๑๐ อันได้แก่การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ การงดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่
ให้ ๑ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑ งดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑ งดเว้น
จากการพูดคำหยาบ ๑ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ๑ ไม่พยาบาทปองร้ายผู้
อื่น ๑ มีความเห็นถูก คือเห็นว่าการทำบุญมีผล เป็นต้น ๑ หรือจะเจริญกุศลให้สูงยิ่งขึ้นจนได้ฌาน วิปัสสนา
และมรรค ผล นิพพาน ก็ยิ่งประเสริฐ
แม้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์จะได้มาโดยยาก และมนุษย์จะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ถึงกระนั้น
การเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นทุกข์ ไม่ใข่จะเป็นสุขไปทุกอย่าง ทุกข์เพราะต้องแสวงหาสิ่งต่างๆมาปรนเปรอชีวิต
ทุกข์เพราะเจ็บป่วย ทุกข์เพราะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นต้น แม้มนุษย์ที่มีความเป็นอยู่อุดมสม
บูรณ์ที่สุดอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ ก็หนีทุกข์เป็นต้นเหล่านี้ไม่พ้น เกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์บ้าง สุขบ้าง คละ
เคล้ากันไป
ในวัฏฏสงสารอันยาวนานนี้ เราจำกันได้หรือไม่ว่า เราได้เกิดมากี่ครั้ง เชื่อแน่ว่าไม่มี
ใครจำได้
*พระพุทธเจ้าตรัสว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดและเบื้องต้นไม่ได้ เมื่อหมู่สัตว์ผู้มีอวิชชากางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดและเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฎ
*อนมตัคคสังยุตต์ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เราทราบว่า ทุกคนที่เกิดมานี้ล้วนแต่มีบรรพบุรุษสืบสายกันมานับไม่
ถ้วน ทั้งทางฝ่ายมารดาและบิดา โดยทรงเปรียบเทียบกับผืนแผ่นดินใหญ่นี้ว่าถ้าเราจะเอาดินมาปั้นเป็นก้อน
เล็กๆเท่าเมล็ดกระเบา แล้วสมมุติให้ก้อนนี้เป็นมารดาของเรา ก้อนนี้เป็นมารดาของมารดาเราเป็นลำดับไป
มารดาของมารดาเราจะไม่ถึงความสิ้นสุด แต่ดินบนผืนแผ่นดินใหญ่นี้จะพึงหมดไปเสียก่อน แม้ในฝ่ายบรรพ
บุรุษของบิดาก็เช่นเดียวกัน
เราได้เสวยความทุกข์เดือดร้อน ร้องไห้ คร่ำครวญกันมานานไม่น้อยเลย พระพุทธองค์
ตรัสว่า น้ำตาของเราผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารอันยาวนานนี้ ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ รวมกัน
เสียอีก ร่างกายของเรานั้นเล่าก็นอนทับถมพื้นดินกันมานานมิใช่น้อย จนนับประมาณมิได้
ตลอดเวลาที่เราท่องเที่ยวอยู่ในสงสารนี้ บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น บางคราวก็จากโลก
อื่นมาสู่โลกนี้ เวียนวนไปมาอยู่อย่างนี้ โดยไม่อาจกำหนดที่สุดของการเกิดของเราได้เลย ตราบเท่าที่ยัง
ไม่เห็นอริยสัจ ๔
ทุกข์นั้นมีมากมาย แต่ไม่มีทุกข์อะไรที่น่ากลัวยิ่งกว่า ทุกข์ในวัฏฏะ อันมีการเวียนเกิดเวียนตาย
ที่หาจุดจบมิได้ เกิดทีไรก็เป็นทุกข์ทีนั้น
การเกิดบ่อยๆ จึงเป็นทุกข์ การไม่ต้องเกิดเป็นอะไรเลยเป็นความสุข
ทุกข์เหล่านี้มีตัณหาความอยาก ความต้องการเป็นมูล พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน
สองท่องเที่ยวไปอยู่สิ้นกาลนาน ย่อมไม่ก้าวล่วงสงสารไปได้ เพราะฉะนั้นการดับตัณหาอันเป็นมูลเหตุของ
ทุกข์ทั้งมวลเสียได้ จึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง
ตัณหาจะดับได้ก็เพราะได้ดำเนินตามทางสายกลางที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ อันประกอบ
ด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ ๑
สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ ๑ สัมมาวายามะ การเพียร ๑
สัมมาสติ การระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ การตั้งใจมั่นชอบ ๑ จนบรรลุพระอรหัตต์เป็นพระอรหันต์เท่านั้น
ความเป็นมนุษย์ของเราจะสมบูรณ์ที่สุดก็เพราะได้เข้าถึง อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อันเกษม
จากโยคะ หมดสิ้นทั้งกิเลสและขันธ์ทั้งปวง ไม่ต้องเกิดมาพบกับความทุกข์อีก
ที่มา ลานธรรมจักร • แสดงกระทู้ - เป็นมนุษย์นี้แสนยาก
No comments:
Post a Comment