"สาธุ"...สั้นๆแต่ได้บุญ•
คำว่า "สาธุ" มีความหมายเป็น ๒ นัย คือ พระสงฆ์เปล่งวาจาว่า "สาธุ" จะหมายความว่า "เพื่อยืนยันหรือรองรับการทำสังฆกรรมนั้นๆ ว่าถูกต้องเหมาะสม หรือเพื่อลงมติว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอ ซึ่งเป็นกิริยาที่พระสงห์ใช้แทนการยกมือแบบคฤหัสถ์ในเวลาลงมติ"
ใน ขณะที่คำกล่าว "สาธุ" หากเปล่งออกมาจากฆารวาส จะเป็นคำอนุโมทนาแสดงความชื่นชมยินดีในบุญกุศล หรือความดีที่คนอื่นทำ โดยประนมมือยกขึ้นเสมอศีรษะพร้อมเปล่งวาจาว่า สาธุ นอกจากนี้แล้วยังใช้ในความหมายของคำว่า ไหว้ อีกด้วย เช่น บอกให้เด็กๆ แสดงความเคารพพระหรือผู้ใหญ่ ทั้งนี้จะลดเหลือคำว่า "ธุ" ก็มี
การ กล่าวคำว่า "สาธุ" ถือว่าผู้กล่าวได้บุญ เพราะเป็นการทำบุญข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ มีอยู่ข้อหนึ่งในจำนวน ๑๐ ข้อ คือ "ปัตตานุโมทนามัย" แปลว่า "บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ" คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า "สาธุ" เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสแสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย
ส่วนความ เป็นมาของคำว่า "สาธุ" นั้นมีประวัติความเป็นมาดังมีเรื่องย่อว่า ชายคนหนึ่ง อยู่ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ได้ฟังพระแสดงธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในการครองเรือนมีความปรารถนาจะขอบวชเพื่อ แสวงหาความสงบในสมณธรรม จึงลาจากภรรยาไปบวช ได้ตั้งใจพากเพียรในสมณธรรมตามที่ปรารถนาไว้ตลอดมา ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงพบหญิงผู้เป็นภรรยาของชายคนนั้น และเมื่อทรงได้ทราบเหตุความเป็นมาทั้งหมดจึงเกิดสมเพชในนางผู้เป็นภรรยา รับสั่งให้นำหญิงนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ตั้งเป็นท้าวนางกำนัล
อยู่ มาวันหนึ่ง ราชบุรุษนำดอกนิลุบลบัวเขียวมาถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลกำมือหนึ่ง พระองค์จึงประทานแก่ท้าวนางคนละดอก ฝ่ายสตรีที่เป็นภรรยาของชายที่ไปบวชนั้น เมื่อไปรับพระราชทานก็ยิ้มแสดงความยินดีดุจนางอื่นๆ แต่พอดมกล่นนิลุบลแล้ว นางกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่จึงร้องไห้ พระเจ้าปเสนทิโกศลสงสัยพระทัย จึงตรัสถามว่า เหตุใดนางจึงยิ้มแล้วร้องไห้ นางจึงกราบทูลว่า ที่นางยิ้มเพราะดีใจที่ทรงพระกรุณาประทานดอกบัวให้ แต่พอดมดอกบัวแล้วหอมเหมือนกลิ่นปากสามีที่ไปบวช นางคิดถึงความหลังจึงร้องไห้
พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องการ พิสูจน์วาจาของนาง จึงโปรดให้ประดับวังด้วยของหอมทั้งปวงเว้นแต่บัวนิลุบล แล้วอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าภิกษุสงฆ์ให้มาฉันภัตตาหารในพระราชฐาน แล้วมีพระราชดำรัสถามหญิงนั้นว่า พระมหาเถระองค์ไหนที่นางอ้างว่าเป็นสามี หญิงนั้นก็ชี้ไปที่พระมหาเถระ เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลอารธนาให้พระพุทธเจ้า และภิกษุองค์อื่นๆ กลับวัดไปก่อน เว้นพระมหาเถระขอให้อยู่เพื่อกล่าวอนุโมทนา
เมื่อพระผู้ มีพระภาคเสด็จกลับไปแล้ว พระมหาเถระจึงกล่าวอนุโมทนาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะและมีกลิ่นหอมฟุ้งออกจาก ปากพระเถระรูปนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ กลบเสียซึ่งกลิ่นดอกไม้ของหอมทั้งปวง กลิ่นปากของพระมหาเถระหอมฟุ้งไปทั่วพระราชวัง ดังกลิ่นการบูรและพิมเสนผสมกฤษณา หอมยิ่งกว่าดอกบัวนิลุบล ปรากฏการณ์นี้ปรากฏแก่ชนทั้งหลายในพระราชวัง ส่วนองค์มหากษัตริย์เมื่อเห็นจริงดังหญิงนั้นกราบทูล ก็ทรงโสมนัสน้อมนมัสการ ฝ่ายพระมหาเถระเสร็จสิ้นการอนุโมทนาแล้ว ก็กลับไปสู่วิหาร
ครั้นพอรุ่งเช้าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จไปสู่พระ วิหาร ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลถามว่า "เหตุใดปากของพระมหาเถระจึงหอมนักหนาท่านได้สร้างกุศลใดมา"
สมเด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า "เพราะ บุพชาติปางก่อน ภิกษุรูปนี้ได้ฟังพระสัทธรรมไพเราะจับใจ เต็มตื้นด้วยปีติยินดี จึงออกวาจาว่า "สาธุ" เท่านั้น อานิสงส์แห่งการฟังพระสัทธรรมให้ผลจึงได้มีกลิ่นปากหอมดังนี้"
ประเภทของบุญ
บุญนี้มีอะไรบ้าง กล่าวโดยย่อมี ๓ อย่าง คือ
๑. ทานกุศล หมายถึง บุญเกิดจากการบริจาคทาน เสียสละความสุขส่วนตัว ทรัพย์สินแม้ชีวิตเลือดเนื้อ ร่างกาย สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ให้ผู้อื่น
๒.ศีลกุศล หมายถึง บุญจากการรักษาศีล รักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษแก่ผู้ใด ทั้งแก่ตนเองและทั้งผู้อื่น และ
๓. ภาวนากุศล หมายถึง บุญจากการพัฒนาจิตใจโดยการทำสมาธิ ให้จิตใจนั้นปลอดจากกิเลสนิวรณ์ แล้วก็เจริญปัญญาเพื่อกำจัดความไม่รู้ ทำใจให้สะอาด บริสุทธิ์ และเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของธรรมชาติและสัจธรรมตามที่เป็นจริงเรียกว่า การเจริญภาวนา
องค์ประกอบที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ
๑.ทำบุญ ด้วยความเต็มใจ เมื่อจิตเกิดเป็นกุศล มีความเต็มใจ จงทำบุญหรือปวารณาว่าจะทำบุญหรือปวารณาว่าจะทำบุญ ตามความพร้อมในขณะนั้น เมื่อถึงเวลาที่บุญจะให้ผล (กาลสมบัติ) บุญจะส่งผลให้ตามเจตนาที่เป็นกุศลเต็มที่โดยพลัน โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง แต่ถ้าทำบุญอย่างเสียมิได้ หรือด้วยความลังเล ผัดผ่อน เสียดาย ผลบุญที่ได้รับก็จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ฉับพลันเหมือนใจของเราที่ลังเลเช่นกัน
๒.ทำบุญด้วยความศรัทธา ศรัทธาที่ว่านี้ต้องตั้งอยู่บนความมีเหตุมีผล ที่เรียกว่าศรัทธาบริสุทธิ์จากกิเลส ผลบุญจากการที่ทำบุญอย่างศรัทธาที่มีเหตุผลนี้ จะเกิดปัญญาในการทำบุญปัญญาในการรู้รักษาตัวรอด ปัญญาในการหาบุญได้ ใช้บุญเป็น แม้ชาตินี้ยังฐานะไม่ดีนักก็สามารถอยู่อย่างสุขสบายในการทำมาหากินไปได้ ไม่ฝืดเคือง ตรงข้ามกับผู้มีทรัพย์มากแต่ถ้าไม่รู้จักใช้ทรัพย์ในการทำบุญ คือไม่มีปัญญาที่จะใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดบุญดังคำกล่าวที่ว่า "บุญมาปัญญาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย"
๓.ทำบุญให้ถูกบุญ คือ การทำบุญให้ถูกสถานที่และบุคคลเพื่อเป็นเนื้อนาบุญ เช่น ทำบุญเพื่อทำนุบำรุงธรรมปฏิบัติ และผู้มาปฏิบัติขัดเกลากิเลส เพื่อการเผยแพร่ธรรมะที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานที่จะเป็นประโยชน์แก่ พุทธบริษัท
บุญที่บุคคลได้ตั้งใจกระทำทั้ง ๓ ประการนี้ บุญย่อมส่งผลตามเจตนาอย่างเต็มเปี่ยม ปรุงแต่งให้เกิดในภพภูมิที่ดี เกิดในปฏิรูปเทศ มีปัญญา เจริญรุ่งเรืองในบวรพุทธศาสนาฝ่ายสัมมาทิฐิแต่ส่วนเดียวปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถน ปุนปฺปุนํ ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถสุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ถ้าบุรุษพึงทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำความสุขมาให้
------------------------------------------------
"สาธุ"
11/20/2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment