ประวัติพระมหากัสสปเถระ (โดยพิสดาร)
ผู้เลิศทางด้านธุดงค์ ท่านพระมหากัสสปเถระ เป็นบุตรชายของ กปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านชื่อว่า "มหาติฏฐะ" ในแว่นแคว้นมคธ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีนามว่า "ปิปผลิ" เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้แต่งงานกับ นางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี ซึ่งนางเป็นบุตรีของ โกสิยโคตรพราหมณ์ ณ สาคลนคร แว่นแคว้นมคธ
เนื้อ ความในเรื่องนี้มีว่า เมื่อปิปผลิมาณพมีอายุ ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาต้องการให้มีครอบครัว แต่บุตรชายบอกว่า อยากจะปฏิบัติบิดามารดาไปจนตลอดชีวิต เมื่อบิดามารดาล่วงลับไปแล้วก็จะออกบรรพชา ต่อมาบิดามารดาก็อ้อนวอนอีก ปิปผลิมาณพก็ปฏิเสธอย่างนั้นอีก แล้วจึงได้ออกอุบายให้ช่างทองหล่อทองคำเป็นรูปหญิงสาวคนหนึ่ง ให้นุ่งผ้าสีแดง แต่งตัวด้วยดอกไม้สีต่าง ๆ และเครื่องประดับนานาประการ
แล้ว บอกกับมารดาว่า ถ้าหาผู้หญิงได้เหมือนกับรูปหล่อทองคำนี้ก็ยินดีจะแต่งงานด้วย มารดาเป็นผู้มีปัญญา ได้คิดว่าบุตรของเราเป็นผู้สร้างสมบุญบารมีมาดีแล้ว เมื่อกระทำบุญคงไม่ได้กระทำแต่ผู้เดียว หญิงที่ทำบุญร่วมกับบุตรของเรา ซึ่งมีรูปร่างอย่างรูปทองคำนี้จักมีเป็นแน่ จึงได้เชิญพราหมณ์ ๘ คน ให้นำรูปทองคำขึ้นบนรถ พร้อมกับมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น เพื่อไปเที่ยวแสวงหาหญิงที่มีลักษณะงดงามพร้อมทั้งมีฐานะเสมอกันด้วยสกุลของ ตน
พราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้นรับสิ่งของทองหมั้น แล้วเที่ยวไปได้บรรลุถึงสาคลนคร ก็ ได้ตั้งรูปทองคำไว้ที่ท่าน้ำแล้วพากันไปนั่งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง คราวนั้นพวกพี่เลี้ยงของนางภัททกาปิลานีได้พากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ครั้นได้เห็นรูปทองคำนั้นก็เข้าใจว่าเป็นนางภัททกาปิลานี พวกพราหมณ์เห็นเช่นนั้น จึงได้ออกมาไต่ถามว่าลูกสาวเจ้านายของเธอเหมือนรูปนี้หรือ พี่เลี้ยงจึงตอบว่า พระแม่เจ้าของเราสวยกว่านี้
เพราะสว่างไปด้วยรัศมี พราหมณ์ได้ยินดังนั้น จึงให้นางนำไปที่บ้านของ โกสิยโคตรพราหมณ์พร้อม ทั้งแจ้งความประสงค์ของตน เมื่อเจรจาเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงได้ส่งข่าวไปถึงกปิลพราหมณ์ ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ด้วยความที่ตนไม่อยากจะแต่งงานด้วย จึงได้เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางภัททปิลานีทราบว่า "นางผู้เจริญ จงหาคู่ครองที่มีสกุล มีฐานะทัดเทียมกับนางเถิด เราจะออกบวช เธออย่าเสียใจต่อภายหลัง"
ฝ่ายนางภัททกาได้ทราบ ว่า บิดามารดาจะยกตนให้แก่ปิปผลิมาณพ จึงเขียนจดหมายไปบอกความประสงค์ของตนเช่นเดียวกัน ต่อมาคนถือจดหมายทั้งสองคนมาพบกันในระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่านแล้วทิ้งจดหมายทั้ง ๒ ฉบับนั้นเสียในป่า และเขียนจดหมายขึ้นมาใหม่ โดยมีเนื้อความแสดงความพอใจซึ่งกัน และกัน แล้วนำไปส่งให้แก่คนทั้งสอง
ครั้นถึงกำหนดพิธีการ แต่งงานผ่านไปแล้ว ด้วยความไม่เต็มใจของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นด้วยบุพเพสันนิวาส คือ เคยเป็นคู่ครองกันมาในกาลก่อน บุคคลทั้งสองจำต้องมาอยู่ร่วมกัน ในตอนนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยสันนิษฐานไว้ว่า ท่านทั้งสองนี้คงจะได้คุณธรรม คือ เป็น "พระสกิทาคามี" มาแต่ชาติก่อน ในชาตินี้จึงไม่นิยมเรื่องการครองเรือน มีจิตหวังที่จะออกบวชเท่านั้น
ด้วย เหตุนี้คนทั้งสองสักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น มิได้ล่วงเกินซึ่งกันและกันเลย ยังคงรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ตลอด ด้วยอำนาจบุญบารมีที่บำเพ็ญมาดีแล้ว นั่นก็คือการวาง พวงดอกไม้ กั้นไว้ระหว่างกันในขณะที่นอนบนเตียงนั้น นางภัททกากล่าวว่า ดอกไม้ข้างตัวของใครเหี่ยว เราจะรู้กันได้ว่า ผู้นั้นเกิดราคะจิตแล้วจึงไม่ควรจับต้องพวงดอกไม้นี้ คนทั้งสองจึงนอนไม่หลับตลอดคืนเพราะกลัวถูกต้องตัวกัน
ถึง เวลากลางวันก็ไม่ได้มีการยิ้มแย้มต่อกันเลย คนทั้งสองจึงอยู่แบบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน จนกระทั่งบิดามารดาสิ้นอายุแล้ว จึงมีความเห็นว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่ายพร้อมใจกันจะออกบวช จึงไปแสวงหาผ้ากาสายะและบาตรดินจากร้านตลาด ได้ปลงผมซึ่งกันและกันแล้วนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดนั้น ถือเพศบรรชิตตั้งใจบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก
แล้ว ได้สะพายบาตรเดินลงจากปราสาทหลีกไป ปิปผลิเดินหน้านางภัททกาปิลานีเดินตามหลัง พอไปถึงทางสองแพร่งจึงแยกออกจากกัน เพราะเกรงผู้อื่นจะคิดว่าทั้งสองคนนี้บวชแล้วก็ยังไม่อาจพรากจากกันได้ ก่อนจะแยกจากกัน นางภัททกาได้ทำปทักษิณถึง ๓ รอบ กราบสามีลงในที่ทั้ง ๔ คือ กราบลงข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย และข้างขวา แล้วประนมมือขึ้นกล่าวว่า
"ความรักใคร่สนิทสนมกัน ซึ่งได้มีแก่เราทั้งสองตลอดกาลนานประมาณแสนกัปมาแล้ว จะแตกกันในวันนี้ ท่านสมควรไปทางเบื้องขวา ส่วนข้าพเจ้าสมควรไปทางเบื้องซ้าย"
กล่าว ดังนี้แล้วก็ออกเดินทาง ระหว่างแยกทางกันนั้น แผ่นดินอันใหญ่ก็ได้หวั่นไหว ประหนึ่งว่าไม่อาจรับความดีของท่านทั้งสองไว้ได้ ส่วนในอากาศก็มีสายฟ้าแลบฉวัดเฉวียนด้วยอำนาจบารมีธรรมของคนทั้งสองนั้น บันดาลให้เป็นไป พระพุทธองค์เสด็จไปต้อนรับ
ฝ่าย องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฎีที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ได้ทรงสดับเสียงแผ่นดินไหวก็ทรงพิจารณาดูว่า แผ่นดินไหวเพื่อใคร ก็ทรงทราบว่าปิปผลิมาณพกับนางภัททกาปิลานี ได้สละทรัพย์สมบัติอันหาประมาณมิได้ ออกบรรพชาโดยตั้งใจเฉพาะต่อเรา แผ่นดินไหวนี้มีขึ้น ด้วยกำลังแห่งคุณธรรมของบุคคลทั้งสอง ในขณะที่จะแยกจากกันถึงแม้ว่าเราก็ควรจะสงเคราะห์บุคคลทั้งสองนั้น
แล้ว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงถือเอาบาตร จีวร ด้วยพระองค์เอง โดยไม่บอกแก่พระสาวกทั้งหลายให้ทราบ ครั้นเสด็จถึงใต้ร่มไทรต้นหนึ่ง ในระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาต่อกัน พระพุทธองค์ทรงประทับนั่ง แล้วเปล่งพระรัศมีออกจากพระวรกายประมาณ ๘๐ ศอก.
ดังนั้น ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีก็ได้พุ่งกระจายออกไปรอบด้าน ทำให้เหมือนเวลาพระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพัน ๆ ดวง ทำให้ชายป่าบริเวณนั้นให้มีแสงสว่างขึ้นบนท้องฟ้าระยิบระยับประหนึ่งหมู่ดาว ธรรมดาต้นนิโครธจะมีลำต้นขาว มีใบเขียว ผลสุกแดง แต่วันนั้น ต้นนิโครธกลับมีกิ่งขาว มีสีเหมือนทองคำ
พระมหากัส สปเถระเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่เช่นนั้น ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างสูงสุด คิดว่าท่านผู้นี้จะเป็นพระศาสดาของเรา เราบวชอุทิศพระศาสดาพระองค์นี้ จึงเดินเข้าไปไหว้แล้วกราบทูลปวารณาตนเป็นสาวก ซึ่งในพระอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า เป็นการเข้าถึงด้วยวิธียอมเป็นศิษย์ โดยการกล่าวว่า “ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ๓ ครั้ง
การถวายสักการะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสาวกผู้มีจิต เลื่อมใสทุ่มเทจิตใจทั้งหมดอย่างนี้ และได้ทำความเคารพอย่างยิ่งปานนี้ เหมือนเช่นที่พระมหากัสสปเถระกระทำต่อพระพุทธองค์นี้ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ถ้าท่านพระมหากัสสปเถระกระทำการเคารพเช่นนี้ต่อผู้อื่นที่มิใช่พระศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศีรษะของผู้นั้น “พึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น” และอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า
“หากพระมหากัสสปเถระพึง ความเคารพ ด้วยจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งนี้ ต่อมหาสมุทร.มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน.หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาล.จักรวาล ต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ.หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ.เขาสิเนรุต้อง ย่อยยับดุจก้อน แป้งที่ถูกกาจิก หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน.แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบ มา”
องค์สมเด็จพระทศพลจึงตรัสว่า
"กัส สป...ถ้าเธอกระทำความเคารพอันนี้แก่แผ่นดินอันใหญ่นี้ ถึงแม้ว่าแผ่นดินอันใหญ่นี้ก็ไม่อาจทรงอยู่ได้ เพราะเธอมีคุณความดีมากเหมือนกับพระตถาคต แต่ความเคารพที่เธอกระทำแล้ว ไม่อาจให้เส้นโลมาของเราไหวได้ จงนั่งเถิดกัสสป...เราจะให้ความเป็นทายาทแก่เธอ.." พระโอวาท ๓ ประการ
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ประทานอุปสมบทแก่ปิปผลิมาณพด้วยการประทานพระโอวาท ๓ ประการคือ ....
๑. กัสสป..ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุผู้เป็นผู้เฒ่าและปานกลางอย่างแรงกล้า ฯ
๒. เราจะฟังธรรมอันใดอันหนึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความดังนี้ ฯ
๓. เราจะไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ
ครั้น ประทานแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงหลีกไป ด้วยทรงดำริว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร พระมหากัสสปเถระ จึงได้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อและบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติธรรม เพียง ๗ วันและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในเช้าของวันที่ ๘
ครั้งหนึ่งพระมหากัสสปนั้นได้เดินตาม รอยพระบาทของพระพุทธองค์ไป พระสรีระของพระศาสดาตระการตาด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สรีระของพระมหากัสสปประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๗ ประการ พระมหากัสสปนั้นเดินตามเสด็จพระศาสดา เปรียบเหมือนกับเรือน้อยพ่วงท้ายเรือใหญ่ ซึ่งสำเร็จแล้วด้วยทองคำฉะนั้น
องค์ สมเด็จพระภควันต์เสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง จึงทรงแวะออกจากทางทรงแสดงอาการจะประทับนั่งที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง พระมหากัสสปทราบว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดามีพระประสงค์จะนั่ง จึงพับผ้าสังฆาฏิของตนให้เป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวาย พระพุทธองค์ประทับนั่งบนผ้าสังฆาฏินั้นแล้วก็ทรงลูบผ้าสังฆาฏิด้วยพระหัตถ์ แล้วตรัสว่า "ผ้าสังฆาฏิของเธออ่อนนุ่มดี"
พระ มหากัสสปก็ทราบว่า พระศาสดาทรงตรัสเช่นนี้ จักมีพระประสงค์ที่จะทรงห่มเป็นแน่ จึงได้กราบทูลถวายผ้าผืนนั้นของตน ส่วนผ้าสบงของพระพุทธองค์ ก็จะขอมาทำเป็นผ้าสังฆาฏิ องค์สมเด็จพระบรมครูจึงตรัสว่า
"กัสสป..ผ้าบังสุกุล ผืนนี้ ในวันที่เราถือเอามานั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เพราะเป็นผ้าที่เคยใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมาแล้ว ผู้ที่มีคุณธรรมเล็กน้อยไม่อาจใช้ได้ ส่วนผู้ที่มีชาติถือบังสุกุลซึ่งสามารถจะทำข้อปฏิบัติอันนี้ให้เต็มได้ ...จึงจะใช้ได้..."
ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับพระมหากัสสปเถระ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มผ้าของพระมหากัสสป ส่วนพระเถระก็ห่มผ้าของพระพุทธองค์ ในคราวนั้นแผ่นดินอันใหญ่ซึ่งไม่มีจิตวิญญาณ ก็ได้หวั่นไหวจนกระทั่งน้ำรองข้างล่าง ปานประหนึ่งจะกราบทูลว่า การที่พระองค์ไม่เคยทรงประทานผ้าของพระองค์ให้แก่พระสาวกนี้ ชื่อว่าได้กระทำสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้าพระองค์ไม่อาจทรงคุณความดีของพระองค์ไว้ได้ฉะนั้น จีวรของพระมหาเถระนั้น อรรถกถากล่าวว่า
“จีวรนี้ที่เรา ห่ม ทาสีชื่อ "ปุณณ" ะทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้นอันมีตัวสัตว์กระจายอยู่ ประมาณทะนานหนึ่ง กำจัดตัวสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา.ในวันที่เราถือเอาจีวรนี้ มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง "ตฏะ..ตฏะ" เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตามธรรมชาติ นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตรตามธรรมชาติ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรตามธรรมชาติ ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้ ดังนี้.”
ฝ่ายพระมหากัสสปก็ไม่ได้มีใจฟูขึ้นว่า บัดนี้เราได้ผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ แต่เราควรจะทำสิ่งใดให้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็สมาทาน ธุดงค์คุณ ๑๓ ในที่ใกล้พระพุทธองค์ ท่านได้อุปสมบทเพียง ๗ วันเท่านั้น พอถึงวันที่ ๘ ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ต่อมาองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์ จึงได้ทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ถือธุดงค์ และทรงสรรเสริญคุณธรรมของท่านอีกหลายประการ เช่น :-
๑. มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง
๒. กัสสปเข้าไปใกล้ตระกูล แล้วชักกายและใจห่าง ประพฤติเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคยเป็นนิจ ไม่คะนองกายวาจาใจในสกุลเป็นนิจ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้น ตั้งอารมณ์จิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
๓. กัสสปมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดังนี้ เกิดสมัยของพระปทุมุตตระพุทธเจ้า
กระทำมหาทาน "พระปทุมุตตระพุทธเจ้า" กับภิกษุหกล้านแปดแสนองค์ได้ยินว่า ในอดีตกาล ปลายแสนกัป ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม "พระปทุมุตตระ" เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงหงสวดี ประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า "เวเทหะ" มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฎิ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็สมาทานอุโบสถศีล ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปพระวิหาร เพื่อบูชาองค์พระศาสดา
ครั้น ถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่งอยู่ในพระวิหารนั้น ขณะนั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าได้กระทำการสถาปนาสาวกองค์ที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จนเมื่อเวลาจบพระธรรมกถาแล้ว หมู่พุทธบริษัทอื่นก็ได้ออกไปจากพระวิหารแล้ว เวเทหะอุบาสกจึงถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับอาราธนาของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้
พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มากนะ
อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นมีประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า?
พระศาสดาตรัสว่า มีประมาณหกล้านแปดแสนองค์
อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่สามเณรรูปเดียวก็อย่าเหลือไว้ในวิหาร
พระ ศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เวเทหะอุบาสกรู้ว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลลาแล้วกลับไปยังเรือนของตน แล้วตระเตรียมมหาทานในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งคนให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระศาสดา.
ใน วันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปยังเรือนของเวเทหะอุบาสก ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่อุบาสกจัดไว้ถวาย ทรงเสวยภัตาหาร มีข้าวต้มเป็นต้น ในระหว่างนั้น เวเทหะอุบาสกก็นั่งอยู่ที่ใกล้พระศาสดา.พบพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตร
ระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระ ผู้ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเอตะทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์เมื่อ วันวาน กำลังเที่ยวบิณฑบาต เดินไปยังถนนหน้าบ้านท่านเวเทหะอุบาสกนั้น อุบาสกเห็นพระเถระเดินบิณฑบาตอยู่ จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้วกล่าวนิมนต์ว่าว่า
ท่านผู้ เจริญ..ขอท่านจงให้บาตร พระเถระได้ให้บาตร อุบาสกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอนิมนต์เข้าไปในเรือนนี้แหละ ขณะนี้พระศาสดาก็ประทับนั่งอยู่ในเรือน
พระเถระกล่าวว่า ไม่ควรนะอุบาสก
อุบาสกรับบาตรของพระเถระใส่บิณฑบาตเต็มแล้ว ได้ นำออกไปถวาย จากนั้นได้เดินส่งพระเถระไป แล้วกลับมานั่งในที่ใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า
ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระนี้ แม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับอยู่ในเรือน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระมหานิสภเถระนั่น มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือหนอ อันธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีวรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่คุณความดีของคนอื่น)
ลำดับ นั้น พระศาสดาทรงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เรานั่งคอยภัตตาหารอยู่ในเรือน แต่พระมหานิสภเถระนั้นไม่นั่งคอยภิกษาในเรือนอย่างนี้ เราอยู่ในเมือง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่ในป่าเท่านั้น เราอยู่ในที่มุมบัง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่กลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้น พระมหานิสภเถระนั้นมีคุณอย่างนี้ตั้งความปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะ
เว เทหะอุบาสกนั้น ตามปกติก็เป็นผู้เลื่อมใสดียิ่งอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนั้น จึงเป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงอยู่ แล้วยังถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันฉะนั้น และคิดว่า สมบัติอื่นเราไม่ต้องการ เราเพียงปรารถนาความเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์เป็นวัตรในสำนักของ พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.
เวเทหะอุบาสกนั้นจึงได้ นิมนต์พระศาสดาอีก และได้ทำการถวายมหาทานอย่างนั้นต่อไปอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อถวายทานแล้วเวเทหะอุบาสกได้หมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า
"..ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ของข้าพระองค์ ผู้ถวายมหาทาน ๗ วัน ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติของเทวดา หรือสมบัติของท้าวสักกะ มาร และพรหม แม้สักอย่างหนึ่ง
ด้วย ผลแห่งการถวายมหาทานนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับตำแหน่งของพระมหานิสภเถระ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.."
สมเด็จ พระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ที่เวเทหะอุบาสกปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่นี้ จะสำเร็จหรือไม่ ครั้นทรงเห็นว่าความปรารถนาของอุบาสกนั้นสำเร็จ จึงทรงตรัสว่า ความปรารถนาในตำแหน่งนั้นของท่านจักสำเร็จในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโค ดม ที่จักอุบัติขึ้นในอนาคตอีกแสนกัปนับจากนี้ ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่า"มหากัสสปเถระ"
เว เทหะอุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบว่าพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาย่อมไม่มีเปลี่ยนเป็นอื่น ดังนั้นในระหว่างช่วงอายุที่เหลืออยู่ของอุบาสกนั้น เขาก็ได้ทำการถวายทานโดยประการต่าง ๆ รักษาศีล กระทำกุศลกรรมนานับประการ เมื่อเวเทหะอุบาสกสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์.เอกสาฏกพราหมณ์
นับแต่นั้น เขาได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของ พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี
อุบาสก นั้นก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง.อาศัยอยู่กับ นางพราหมณี พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่ง อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์ ประชุมกัน ด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม
ใน สมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระรรมเทศนาทุก ๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกแก่เอกสาฏกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีว่า
"..มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน .."
นางพราหมณีพูดว่า "พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด"
แล้ว ให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าซึ่งมีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อม กับพวกอุบาสิกา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำพราหมณ์ ได้ให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองก็ห่มผ้านั้นไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร
เวลา นั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธ บริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ก็บังเกิดปิติ ขึ้นทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล
ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งตนมีเพียงผืน เดียวก็บังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น และคิดว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใด ๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง
ครั้น เมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์ก็เกิดปีติเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อช่วงปฐมยามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งใน ช่วงมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้นอีก ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สาม
ในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วก็ดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า
"..ชิตัง เม, ชิตัง เม, ชิตัง เม.." (เราชนะแล้ว ๆ ๆ).
เวลา นั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ทรงสดับดังนั้น จึงส่งราชบุรุษให้ไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม เมื่อราชบุรุษไปถาม พราหมณ์จึงกล่าวว่า
"..คน อื่นนอกจากข้าพเจ้า เมื่อจะเอาชัยชนะต่อกองทัพข้าศึก จะต้องขึ้นพาหนะ เช่นช้างเป็นต้น ถือโล่หนัง และดาบเป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับข้าศึกจึงจะได้ชัยชนะ แต่ชัยชนะเช่นนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนตัวเราได้ทำลายจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์.."
ราชบุรุษจึง ไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล แต่พราหมณ์นั้นรู้ จึงทรงรับสั่งให้ส่งผ้าสำรับหนึ่ง คือผ้านุ่งกับผ้าห่ม ไปพระราชทาน พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า
ถ้าเรามิได้กระทำอะไร พระราชาก็คงไม่พระราชทานอะไรให้แก่เรา เป็นเพราะเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาหรอก ท่านจึงได้พระราชทาน ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับรางวัลที่ได้รับโดยอาศัยพระคุณของพระบรม ศาสดา คิดดังนั้นจึงได้ถวายผ้าสำรับนั้นแด่พระทศพลเสียเลย
พระ ราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าสำรับนั้นนั้นแด่พระตถาคต จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ สำรับพระราชทานไปอีก พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ สำรับนั้นแด่พระศาสดา พระราชาก็ทรงส่งผ้าคู่ ๔ สำรับไปพระราชทานอีก พราหมณ์ก็นำผ้าที่ได้รับถวายพระศาสดาอีกเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนกระทั่งพระราชาทรงส่งผ้าไปพระราชทาน ถึง ๓๒ สำรับ
พราหมณ์ จึงคิดว่า การทำดังนี้ เป็นเหมือนตั้งใจจะให้พระราชทานเพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ สำรับ คือ เพื่อตนเองสำรับ ๑ เพื่อนางพราหมณีสำรับ ๑ แล้วถวายพระทศพล ๓๐ สำรับ แต่นั้นมาพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา
ครั้น วันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่ม ส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งแก่พราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า นับแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรมเถิด พราหมณ์นั้นคิดว่า ผ้ากัมพลแดงนี้จะมีประโยชน์อะไรกับกายอันโสโครก เปื่อยเน่าของเรานี้ จึงได้ถวายทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี
อยู่ มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ส่องไปกระทบที่ผ้ากัมพล สีแดงของผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ ๆ ให้เอกสาฏกพราหมณ์
พระ ทศพลทรงตรัสว่ามหาบพิตร พระองค์พระราชทานเพื่อบูชาพราหมณ์ พราหมณ์ถวายเพื่อบูชาอาตมภาพ พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร พระองค์เองกลับไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่าง ๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐะกะทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต
พราหมณ์ นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ ถวายแด่พระสงฆ์ แล้วให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์.เกิดในระหว่างกาลของพระโกนาคมน์พุทธเจ้า และพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า
ท่าน ได้จุติจากสวรรค์กลับมาเกิดในเรือนของกฏุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมน์ และพระกัสสปทศพลในกัปนี้
ครั้นเจริญวัยขึ้นก็แต่งงานมี เหย้าเรือน อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างที่เดินเที่ยวพักผ่อนไปในป่า.ก็พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำจีวรกรรม (คือการ เย็บจีวร) อยู่ที่ริมแม่น้ำ แต่ผ้าอนุวาต (ผ้าแผ่นบาง ๆ ที่ทาบไป ตามชายสบงจีวรและสังฆาฎิ) มีไม่พอจึงทรงเริ่มจะพับเก็บ เขาเห็นเข้าจึงกล่าวถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า เพราะอะไรจึงจะพับเก็บเสียเล่า..เจ้าข้า
พระปัจเจก พุทธเจ้ากล่าวว่า ผ้าอนุวาตไม่พอ เขากล่าวว่า โปรดเอาผ้าสาฏกนี้ทำเถิดเจ้าข้า เขาถวายผ้าสาฏกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอความเสื่อมใด ๆ ขอจงอย่าได้มี ในที่ที่ข้าพเจ้าได้เกิดเถิด
ต่อ มาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ ยังเรือนของเขา ในตอนนั้น ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวพาดพิงถึงพี่สะใภ้ว่า ขอให้เราจงห่างไกลหญิงพาลเช่นนี้ร้อยโยชน์ ภรรยาของเขาที่กำลังยืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินเข้าจึงคิดว่า
พระรูป นี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางคนนี้ถวาย จึงจับบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเทบิณฑบาตทิ้งแล้วเอาเปือกตมมาใส่จนเต็ม น้องสาวเขาเห็นพี่สะไภ้ทำเช่นนั้นจึงกล่าวว่า
"..หญิง พาล..เจ้าจงด่าจงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรของท่านผู้ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเช่นนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ นั้นเป็นการไม่สมควรเลย.."
ภรรยาของ เขาครั้นได้ฟังก็เกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตรแล้วชะโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรลงในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า
"..สรีระของเราจงผุดผ่อง เหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด.."
พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ.เกิดในสมัยพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า
ผัว เมียแม้ทั้งสองนั้นเมื่อครบชั่วอายุขัยแล้ว ตายลงก็ไปเกิดบนสวรรค์ จุติจากสวรรค์นั้นอีกครั้ง อุบาสกเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิในกรุงพาราณสี ในครั้ง พระกัสสปทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่ายภรรยาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเหมือนกัน
เมื่อ เขาเจริญวัย พวกญาติก็นำธิดาของเศรษฐีมายังเรือนบุตรเศรษฐี หมายจะตกแต่งเป็นภรรยาแก่บุตรเศรษฐี ด้วยอานุภาพของกรรมซึ่งได้กระทำไว้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติก่อน พอนางถูกส่งตัวเข้าไปยังตระกูลของสามี ทั่วทั้งสรีระเกิดกลิ่นเหม็นเหมือนส้วมที่เขาเปิดไว้ ตั้งแต่ย่างเข้าไปภายในธรณีประตู เศรษฐีกุมารถามว่า กลิ่นเหม็นนี้เป็นของใคร
ครั้นได้ฟังว่าเป็นกลิ่นของลูกสาวเศรษฐี จึงให้นำส่งนางกลับไปเรือนตระกูล ธิดาเศรษฐีถูกส่งกลับไปกลับมาในทำนองนี้ถึง ๗ ครั้ง
ครั้นเมื่อพระกัสสปทศพลเสด็จปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนเริ่มก่อ พระเจดีย์สูงโยชน์หนึ่งด้วยอิฐทอง ทั้งหนาทั้งแน่น มีราคาก้อนละหนึ่งแสน เมื่อเขากำลังสร้างพระเจดีย์กันอยู่ ธิดาเศรษฐีคนนั้นคิดว่า เราต้องถูกส่งกลับถึง ๗ ครั้งแล้ว ชีวิตของเราจะมีประโยชน์อะไร จึงให้ยุบสิ่งของเครื่องประดับตัว แล้วนำไปทำอิฐทอง ยาวศอก กว้างคืบ สูง ๔ นิ้ว และถือก้อนหรดาลและมโนสิลา เก็บเอาดอกบัว ๘ กำ ไปยังสถานที่ที่สร้างพระเจดีย์
ขณะ นั้นก้อนอิฐแถวหนึ่งที่กำลังก่อมาต่อกันนั้นเกิดขาดอิฐแผ่นต่อเชื่อม นางจึงพูดกับช่างว่า ท่านจงวางอิฐก้อนนี้ลงตรงนี้เถิด นายช่างกล่าวว่า นางผู้เจริญ ท่านมาได้เวลาพอดี ขอท่านจงวางเองเถิด นางจึงขึ้นไปเอาน้ำมันผสมกับหรดาลและมโนสิลา วางอิฐติดอยู่ได้ด้วยเครื่องยึดนั้น แล้วบูชาด้วยดอกอุบล ๘ กำมือไว้ข้างบนอิฐทองนั้น
นางยกมือไหว้แล้วตั้งความ ปรารถนาว่า ในที่ที่เราเกิด ขอจงมีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลจงฟุ้งออกจากปาก แล้วไหว้พระเจดีย์ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์แล้วกลับไป
ครั้นแล้วในขณะ นั้นเอง เศรษฐีบุตรก็เกิดระลึกถึงเศรษฐีธิดาที่เขานำมาที่เรือนครั้งแรก ในพระนครเวลานั้นก็มีงานนักขัตฤกษ์เสียงกึกก้อง เขาจึงพูดกับคนรับใช้ว่า คราวนั้น เจ้านำธิดาเศรษฐีมายังเรือนนี้ นางนั้นอยู่ที่ไหน คนรับใช้กล่าวว่าอยู่ที่เรือนตระกูลของนางขอรับ..นายท่าน
เศรษฐี บุตรกล่าวว่า พวกเจ้าจงพามา เราจักเล่นนักขัตฤกษ์กับนาง พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงไปยังเรือนตระกูลของนาง ไปไหว้นางแล้วยืนอยู่ นางจึงถามว่า ท่านทั้งหลายมาทำไมกัน พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงบอกเรื่องราวที่มานั้น
นางกล่าว ว่า ท่านทั้งหลาย เราเอาเครื่องอาภรณ์บูชาพระเจดีย์เสียแล้ว เราไม่มีเครื่องอาภรณ์ คนรับใช้เหล่านั้นจึงไปบอกแก่บุตรเศรษฐี ๆ จึงกล่าวว่า จงนำนางมาเถิด เราจะให้เครื่องประดับนั้นแก่นาง พวกคนรับใช้จึงไปนำนางมา กลิ่นจันทน์และกลิ่นอุบลขาบฟุ้งไปทั่วเรือน พร้อมกับที่นางเข้าไปในเรือน บุตรเศรษฐีจึงถามนางว่า ครั้งแรกมีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากตัวเธอ แต่บัดนี้ กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของเธอ นี่อะไรกัน
ธิดาเศรษฐี จึงเล่ากรรมที่ตนกระทำตั้งแต่ต้น บุตรเศรษฐีเลื่อมใสว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นนิยยานิกธรรมหนอ จึงเอาเครื่องปกคลุมที่ทำด้วยผ้ากัมพล ยาวประมาณโยชน์หนึ่งหุ้ม พระเจดีย์ทอง เป็นพุทธบูชา แล้วเอาดอกประทุมทองขนาดใหญ่เท่าล้อรถประดับที่พระเจดีย์ทองนั้น ดอกประทุมทองที่แขวนห้อยไว้มีขนาด ๑๒ ศอก บุตรเศรษฐีนั้นครั้นอยู่จนสิ้นอายุในมนุษยโลกแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์.กำเนิดในตระกูลอำมาตย์
ครั้น เมื่อได้จุติจากสวรรค์นั้น บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ซึ่งพำนักอยู่ในที่ห่างจากกรุงพาราณสีประมาณโยชน์หนึ่ง ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีจุติจากเทวโลกเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ในราชตระกูล.
เมื่อ คนทั้งสองนั้นเจริญวัย ในหมู่บ้านที่กุมารอยู่มีงานนักขัตฤกษ์ กุมารนั้นต้องการจะไปเที่ยวงานกล่าวกับมารดาว่า แม่จ๋า..แม่จงให้ผ้าสาฎกฉัน ฉันจะห่มไปเล่นนักขัตฤกษ์ มารดาได้นำผ้าที่ใช้แล้วมาให้เขา เขาปฏิเสธว่า ผ้านี้หยาบไปจ้ะแม่ นางก็นำผ้าผืนอื่นมาให้ แต่ไม่ว่าจะนำผ้าผืนใดมา เขาก็ปฏิเสธว่าผ้านั้นหยาบไป มารดาจึงกล่าวกะเขาว่า
ลูก..เรา เกิดในตระกูลเช่นนี้ พวกเราไม่มีบุญที่จะได้ผ้าเนื้อละเอียดกว่านี้หรอก เขากล่าวว่า แม่จ๋า..ถ้าอย่างนั้น ฉันจะไปยังที่ที่จะได้ผ้าที่มีเนื้อละเอียดกว่านี้ มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย..แม่ปรารถนาให้เจ้าได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีวันนี้ทีเดียวน่ะ เขาไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า ฉันไปละแม่ มารดาว่า ไปเถอะลูก นัยว่ามารดาของเขามีความคิดว่า มันจะไปไหนเสีย คงจะนั่งที่นี่ ที่นั่นอยู่ในเรือนหลังนี้แหละ กุมารนั้นก็ออกไปตามเหตุ แห่งกรรมที่กำหนดไว้ จนถึงกรุงพาราณสี แล้วเข้าไปนอนคลุมศีรษะอยู่บนแผ่นมงคลศิลาอาสน์ ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี ในวันนั้นเป็นวันที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคตแล้วเป็นวันที่ ๗ เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายเมื่อทำการถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ก็นั่งปรึกษากันอยู่ที่พระลานหลวง ปรารภว่าว่า พระราชามีแต่พระธิดา ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติไม่มีพระราชาปกครองเป็นเรื่องไม่สมควร ใครสมควรจะได้เป็นพระราชา
เหล่าอำมาตย์ต่างก็ออกความ เห็นว่า ท่านโน้นควรเป็น ท่านนี้ควรเป็น ปุโรหิตกล่าวว่า ไม่ควรเลือกมาก เอาเถอะ พวกเราจะบวงสรวงเทวดาแล้วเสี่ยงราชรถไปเพื่อหาผู้ที่สมควรจะครองราชย์ อำมาตย์เหล่านั้นจึงจัดแจงเทียมม้า ๔ ตัว แล้วตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง กับเศวตรฉัตรไว้บนรถแล้วปล่อยราชรถนั้นไป แล้วให้ประโคมดนตรีตามไปข้างหลัง ม้านำราชรถออกทางประตูด้านทิศปราจีน บ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน
อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า รถบ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน เพราะม้ามีความคุ้นเคยกับอุทยาน พวกท่านจงให้กลับมา ปุโรหิตกล่าวว่า อย่าให้กลับ ม้านำราชรถไปยังแท่นที่กุมารนอนอยู่ กระทำประทักษิณแก่กุมารแล้วจึงได้หยุดราวกับเตรียมพร้อมที่จะให้ขึ้น ปุโรหิตจึงเดินเข้าไปเลิกชายผ้าห่มด้านเท้าของกุมารที่นอนหลับอยู่ เพื่อตรวจดูพื้นเท้าของกุมาร
ครั้นตรวจดูแล้วจึงกล่าว ว่า ไม่เพียงแค่ชมพูทวีปนี้ทวีปเดียว แต่ท่านผู้นี้สมควรได้ครองราชย์ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปสองพันเป็นบริวาร แล้วสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง
อำมาตย์ถวายราชสมบัติ
เมื่อ กุมารนั้นได้ยินเสียงประโคมดนตรีจึงตื่นขึ้น แล้วเปิดผ้าที่คลุมหน้าขึ้น มองดูเหล่าอำมาตย์ที่มาห้อมล้อมอยู่แล้วพูดว่า ท่านทั้งหลาย..พวกท่านมาด้วยกิจกการอะไรกัน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหล่าข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติแก่พระองค์ กุมารถามขึ้นว่า แล้วพระราชาของพวกท่านไปไหนเสียเล่า ? อำมาตย์ตอบว่า ได้เสด็จทิวงคตเสียเมื่อ ๗ วันที่แล้ว กุมารถามต่อไปว่า พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของท่านไม่มีหรือ ?
อำมาตย์ ข้าแต่สมมติเทพ..พระราชธิดามี พระราชโอรสไม่มี กุมารรับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจักครองราชย์ เหล่าอำมาตย์ได้ยินรับสั่งเช่นนั้น จึงสั่งให้สร้างมณฑปสำหรับอภิเษกในขณะนั้นทันที แล้วประดับพระราชธิดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างนำมายังพระราชอุทยานทำการ อภิเษกกับกุมาร.
เมื่อพระกุมารทำการอภิเษกแล้ว ประชาชนนำผ้ามีราคาแสนหนึ่งมาถวาย พระกุมารกล่าวว่า นี้อะไรท่าน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ผ้านุ่งพระเจ้าข้า, พระกุมาร ผ้านี้เนื้อหยาบไป มีผ้าอื่นที่เนื้อละเอียดกว่านี้หรือไม่ ? อำมาตย์ข้าแต่สมมติเทพ ในบรรดาผ้าที่มนุษย์ทั้งหลายใช้สอย ผ้าที่เนื้อละเอียดกว่านี้ไม่มี..พระเจ้าข้า พระกุมารกล่าวว่า พระราชาของพวกท่านทรงผ้านุ่งเช่นนี้หรือ ?
อำมาตย์ พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ..พระกุมาร พระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ พวกท่านจงนำพระเต้าทองมา เราจะทำให้ได้ผ้า อำมาตย์เหล่านั้นนำพระเต้าทองมาถวาย พระกุมารนั้นลุกขึ้นล้างพระหัตถ์ บ้วนพระโอฐ เอาพระหัตถ์วักน้ำสาดไปทางทิศตะวันออก
ใน ขณะนั้นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ก็ชำแรกแผ่นดินทึบผุดขึ้นมา ๘ ต้น ทรงวักน้ำสาดไปอีกทั่วทิศ ๓ ทิศอย่างนี้คือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นในทิศทั้ง ๔ ทิศละ ๘ ต้น รวมเป็น ๓๒ ต้น พระกุมารนั้นทรงปรารถนา "ผ้าทิพย์" จากต้นกัลปพฤกษ์ ครั้นได้แล้วจึงทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ดังนี้แล้วให้ยกฉัตรขึ้น ทรงประดับตกแต่งพระองค์ ทรงขึ้นช้างตัวประเสริฐเข้าพระนคร ขึ้นสู่ปราสาทเสวยมหาสมบัติ.
ครั้ง กาลเวลาผ่านไป วันหนึ่งพระเทวีเห็นมหาสมบัติของพระราชาแล้ว ทรงปรารภแก่พระสวามีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในอดีตกาลพระองค์ได้ทรงศรัทธาต่อพระพุทธทั้งหลาย ได้ทรงกระทำกรรมดีไว้ในอดีต ในชาตินี้จึงทรงได้มหาสมบัติเช่นนี้
ใน ชาติปัจจุบันนี้ ยังไม่ทรงกระทำกุศลที่จะเป็นปัจจัยแก่อนาคต พระราชาตรัสว่า เราจักทำกุศลแก่ใคร เรายังไม่เห็นผู้มีศีล พระเทวีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชมพูทวีปไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายดอก พระองค์โปรดทรงตระเตรียมทานไว้เท่านั้น หม่อมฉันจะอาราธนาพระอรหันต์ในวันรุ่งขึ้น
พระราชารับ สั่งให้ตระเตรียมทานไว้ที่ประตูด้านทิศปราจีน พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถศีลแต่เช้าตรู่ ทรงบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกหมอบลงบนปราสาทชั้นบนแล้วกล่าวว่า ถ้าพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้ พรุ่งนี้ขอนิมนต์มารับภิกษาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด
ปรากฏ ว่าในทิศนั้นไม่มีพระอรหันต์มาปรากฎ พระนางก็ได้ให้แจกจ่ายสักการะที่เตรียมไว้นั้นแก่คนกำพร้า และยาจก ในวันรุ่งขึ้นทรงตระเตรียมทานไว้ทางประตูทิศใต้แล้วได้กระทำเหมือนอย่างนั้น ก็ไม่มีพระอรหันต์มาปรากฎในทิศนั้น ในวันรุ่งขึ้นทางประตูทิศตะวันตกก็เช่นเดียวกัน
ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในวันที่ทรงตระเตรียมไว้ทางประตูทิศเหนือ พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นพี่ชายของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นโอรสของ พระนางปทุมวดี อยู่ในป่าหิมพานต์ เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นน้องชายซึ่งถูกพระเทวีนิมนต์อย่างนั้นมาว่า
ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระเจ้านันทราช นิมนต์ ท่านทั้งหลาย ท่านจงรับนิมนต์ของท้าวเธอเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับนิมนต์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นเมื่อล้างหน้าที่สระอโนดาดแล้วเหาะไปลงที่ประตูทางด้านทิศ เหนือ
เหล่าชนมากราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ มาแล้วพระเจ้าข้า พระราชาเสด็จ ไปพร้อมกับพระเทวี ทรงไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายขึ้นสู่ปราสาท ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ในเวลาเสร็จภัต ตกิจ พระราชาทรงหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆเถระ พระเทวีหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆนวกะ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขออาราธนาท่านทั้งหลาย จงให้ปฏิญญาเพื่ออยู่ในที่นี้จนตลอดอายุของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ครั้นท่านรับปฏิญญาแล้ว จึงให้ตกแต่งสถานที่สำหรับอยู่อาศัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในพระ อุทยาน คือ บรรณศาลา ๕๐๐ หลัง ที่จงกรม ๕๐๐ ที่ แล้วให้ท่านอยู่ในที่นั้นนั่นแล
เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน
ครั้น กาลเวลาล่วงไป เมืองชายแดนของพระราชาก่อการกำเริบขึ้น พระองค์ทรงกล่าวแก่พระเทวีว่า พี่จะไประงับเหตุที่เมืองชายแดน เธออย่าละเลยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเสด็จออกไปจากพระนคร ในระหว่างที่พระองค์ยังไม่เสด็จกลับ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นอายุสังขาร.ในวันเดียวกัน
ในวันนั้น พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ทรงฌานตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ในเวลาอรุณขึ้น ทรงยืนเหนี่ยวแผ่นกระดานสำหรับใช้เป็นที่ยึด แล้วทรงปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลือทั้งหมด ก็ปรินิพพานในลักษณะเดียวกัน
ใน วันรุ่งขึ้น พระเทวีทรงให้ตกแต่งที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยดอกไม้ จุดเครื่องหอม นั่งคอยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา เมื่อไม่เห็นมาจึงส่งราชบุรุษไปดูว่าเกิดเหตุใดขึ้นกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้งหลาย ราชบุรุษนั้นไปเปิดประตูบรรณศาลาของพระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ไม่พบท่านในบรรณศาลานั้น จึงไปยังที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึด จึงไหว้ แล้วกล่าวว่า ได้เวลาแล้วเจ้าข้า
ราชบุรุษนั้นเห็นว่าท่านไม่ทรงตอบจึง คิดว่าท่านหลับ จึงเดินไปเอามือลูบที่หลังเท้า จึงรู้ว่าท่านได้เสด็จปรินิพพานแล้ว เพราะเท้าทั้งสองเย็นและแข็ง จึงไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ เมื่อรู้ว่าองค์ที่ ๒ ปรินิพพานแล้วเช่นกัน ก็ไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ สุดท้ายก็รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ปรินิพพานแล้ว
จึง ไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปรินิพพานแล้ว พระเทวีทรงกรรแสงคร่ำครวญ เสด็จออกไปที่บรรณศาลานั้นพร้อมกับชาวเมือง รับสั่งให้เล่าสาธุกีฬา (การเล่นที่เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) กระทำฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเก็บธาตุสร้างพระเจดีย์ ไว้
พระราชาเสด็จกลับ
เมื่อ พระราชาทรงปราบเมืองชายแดนให้สงบแล้วเสด็จกลับมา รับสั่งถามพระเทวีผู้เสด็จมาต้อนรับถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระเทวีทูลว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว พระราชาทรงพระดำริ ว่า มรณะยังเกิดแก่บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ พวกเราก็จะไม่พ้นไปเช่นกัน
พระองค์ จึงไม่เสด็จเข้าไปในพระนคร เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานเลยทีเดียว รับสั่งให้เรียกพระโอรสองค์ใหญ่มาแล้วมอบราชสมบัติแก่พระโอรสนั้น แล้วทรงผนวชเป็นสมณะ ฝ่ายพระเทวีก็ทรงผนวชอยู่ในพระราชอุทยานนั้นเช่นกัน พระราชาและพระเทวีทั้งสองนั้น บำเพ็ญฌาน จนถึงอายุขัยจึงได้ตายแล้วไป บังเกิดในพรหมโลก
ได้ยินว่า พระเจ้านันทราชนั้น ได้เป็น พระมหากัสสปเถระ พระสาวกผู้ใหญ่แห่งพระศาสดาของเราทั้งหลาย. พระอัครมเหสีของพระเจ้านันทราชนั้น ได้เป็นผู้ชื่อว่า ภัททากาปิลานี. ก็พระเจ้านันทราชนี้ทรงนุ่งห่มผ้าทิพย์ด้วยพระองค์เองถึง ๑๐,๐๐๐ ปี ทรงทำแว่นแคว้นของพระองค์ทั้งหมดทีเดียวให้เป็นเหมือนอุตตรกุรุทวีป ได้ให้ผ้าทิพย์แก่พวกมนุษย์ผู้มาถึงแล้ว ๆ. ประวัติพระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า
ตามประวัติเล่าว่า พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ รูปนี้ เคยเป็นพระโอรสของ พระนางอุบลวรรณาเถรี มาก่อน
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า "ปทุมุตตระ"พระ นางถือปฏิสนธิในครอบครัวในกรุงหังสวดี ภายหลังไปสำนักพระศาสดาพร้อมกับมหาชน กำลังฟังธรรมอยู่ เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน ปรารถนาตำแหน่งนั้น นางทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์.
ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ถือปฏิสนธิในราชนิเวศน์ของพระราชาพระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระธิดาอยู่ในระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ทำบริเวณถวายภิกษุสงฆ์ บังเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกนั้นไปสู่มนุษยโลกอีก บังเกิดในถิ่นของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีพในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง.
(พระราชธิดา ๗ พระองค์นั้น ในบัดนี้ คือ พระ เขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และ นางวิสาขา)
วัน หนึ่ง นางไปยังกระท่อมในนา ระหว่างทางเห็นดอกปทุมบานแต่เช้าตรู่ในสระแห่งหนึ่ง ลงสระนั้นแล้วเก็บดอกปทุมนั้นและใบของปทุมเพื่อใส่ข้าวตอก เด็ดรวงข้าวสาลีใกล้คันนา นั่งในกระท่อมคั่วข้าวตอก นับได้ ๕๐๐ ดอก ขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติที่เขาคันธมาทน์ มายืนไม่ไกลนาง. นางแลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ถือดอกปทุมพร้อมทั้งข้าวตอกลงจากกระท่อม ใส่ข้าวตอกในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า ปิดบาตรด้วยดอกปทุมถวาย.
ครั้ง นั้น เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปได้หน่อยหนึ่ง นางก็คิดว่า ธรรมดาเหล่าบรรพชิตไม่ต้องการดอกไม้ จำเราจักไปเอาดอกไม้มาประดับ แล้วไปเอาดอกไม้จากมือพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วคิดอีกว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการดอกไม้ไซร้ ท่านจะไม่ให้วางดอกไม้นั้นไว้บนบาตร พระผู้เป็นเจ้าจักต้องการแน่แท้ แล้วไปวางไว้บนบาตรอีก ขอขมาแล้วทำความปรารถนาว่า
พระ คุณเจ้าข้า..ด้วยผลานิสงส์ของข้าวตอกเหล่านี้ ขอจงมีบุตรเท่าจำนวนข้าวตอก ด้วยผลานิสงส์ของดอกปทุม ขอดอกปทุมจงผุดทุกย่างก้าวของดิฉัน ในสถานที่เกิดแล้ว.."
ทั้งที่นางเห็นอยู่นั่นแล พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศ วางดอกปทุมนั้นไว้สำหรับเช็ดเท้าใกล้บันไดที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เหยียบ ณ เงื้อมเขานันทมูลกะ ด้วยผลทานนั้น นางถือปฏิสนธิในเทวโลก. จำเดิมแต่เวลาที่นางเกิด ดอกปทุมขนาดใหญ่ก็ผุดขึ้นทุกๆ ย่างก้าวของนาง นางจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็บังเกิดในห้องของดอกปทุม ในสระปทุมแห่งหนึ่งใกล้เชิงเขาที่ดาบสองค์หนึ่งอาศัยเชิงเขาอยู่.
ดาบส นั้นไปสระแต่เช้าตรู่ เพื่อล้างหน้า เห็นดอกไม้นั้นแล้วก็คิดว่า ดอกนี้ใหญ่กว่าดอกอื่นๆ ดอกอื่นๆ บาน ดอกนี้ยังตูมอยู่ คงจะมีเหตุในดอกนั้น แล้วจึงลงน้ำ จับดอกนั้น. พอดาบสนั้นจับเท่านั้น มันก็บาน. ดาบสเห็นเด็กหญิงนอนอยู่ภายในห้องปทุม ได้ความสิเนหาดังธิดา นับแต่พบเข้า จึงนำไปบรรณศาลาพร้อมทั้งดอกปทุม ให้นอนบนเตียง.
ขณะ นั้นด้วยบุญญานุภาพของนาง น้ำนมก็บังเกิดที่นิ้วหัวแม่มือ. ดาบสนั้นเมื่อดอกปทุมนั้นเหี่ยวก็นำดอกปทุมดอกอื่นมาแทน ให้เด็กหญิงนั้นหลับนอน. นับตั้งแต่เด็กหญิงนั้นสามารถเล่นวิ่งมาวิ่งไปได้ ดอกปทุมก็ผุดทุกๆ ย่างก้าว. ผิวพรรณแห่งสรีระของนางเป็นเหมือนดอกบัวบก. เด็กหญิงนั้นยังไม่เจริญวัย ก็ล้ำผิวพรรณเทวดา ล้ำผิวพรรณมนุษย์. เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล เด็กหญิงนั้นก็ถูกทิ้งไว้ที่บรรณศาลา.
เมื่อ เวลาเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล พรานป่าคนหนึ่งเห็นนางก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่าเหล่ามนุษย์รูปร่างอย่างนี้ไม่มี จำเราจักตรวจสอบนาง แล้วนั่งรอการมาของดาบส. เมื่อบิดากลับมา นางก็เดินสวนทางไปรับสาแหรกจากมือของดาบสนั้นมาด้วยตัวเอง แล้วแสดงข้อวัตรที่ตนควรทำแก่ดาบสซึ่งนั่งลงแล้ว.
ครั้ง นั้น นายพรานป่าก็รู้ว่านางเป็นมนุษย์ จึงกราบดาบสแล้วนั่งลง ดาบสจึงต้อนรับด้วยผลหมากรากไม้กับน้ำดื่มแล้วถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจักพักอยู่ในที่นี้หรือจักไป. เขาตอบว่า จักไปเจ้าข้า อยู่ในที่นี้จักทำอะไรได้. ดาบสขอร้องว่า เหตุที่ท่านเห็นอยู่นี้อย่าได้พูดไปเลยนะ. เขารับว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ประสงค์ก็จะพูดไปเพราะเหตุไรเล่า แล้วไหว้ดาบส ทำกิ่งไม้รอยเท้าและเครื่องหมายต้นไม้ไว้ในเวลาที่จะมาอีก ก็หลีกไป.
นาย พรานป่านั้นไปกรุงพาราณสีเฝ้าพระราชา. พระราชาตรัสถามว่า เหตุไรเจ้าจึงมา. กราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทเป็นพรานป่าของพระองค์ พบอิตถีรัตนะอันน่าอัศจรรย์ที่เชิงเขา จึงมาเฝ้าพระเจ้าข้า แล้วทูลเล่าเรื่องทั้งหมดถวาย.
พระราชาสดับคำของนาย พรานป่านั้นแล้วรีบเสด็จไปเชิงเขา ตั้งค่ายพักในที่ไม่ไกลจึงพร้อมด้วยนายพรานป่า และเหล่าราชบุรุษอื่นๆ เสด็จไปที่นั้น เวลาดาบสนั่งฉันอาหาร ทรงอภิวาทปฏิสันถารแล้วประทับนั่ง พระราชาทรงวางเครื่องบริขารสำหรับนักบวชไว้แทบเท้าดาบส ตรัสว่า ท่านเจ้า ข้าพวกเราจะทำอะไรสักอย่างก็จะไป.
ดาบสทูลว่า โปรดเสด็จไปเถิด มหาบพิตร. ตรัสว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะไป ได้ทราบว่าบริษัทที่เป็นข้าศึกอยู่ใกล้พระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ บริษัทนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้าสำหรับนักบวชทั้งหลาย ขอบริษัทนั้นจงไปเสียกับข้าพเจ้าเถิด ท่านเจ้าข้า. ทูลว่า ขึ้นชื่อว่าจิตใจของเหล่ามนุษย์ร้ายนัก หญิงผู้นี้จักอยู่กลางหมู่ผู้คนมากๆ อย่างไรได้. ตรัสปลอบว่า ท่านเจ้าข้า นับแต่ข้าพเจ้าชอบใจนางก็จะตั้งนางไว้ในตำแหน่งหัวหน้าของคนอื่นๆ ทะนุบำรุงไว้.
ดาบสฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ร้องเรียกธิดาโดยชื่อที่ตั้งไว้ครั้งยังเล็กๆ ว่า ลูกปทุมวดีจ๋า โดยเรียกคำเดียว นางก็ออกมาจากบรรณศาลายืนไหว้บิดา. บิดาจึงกล่าวกะนางว่า ลูกเอ๋ย..เจ้าเจริญวัยแล้วคงจะอยู่ในที่นี้ได้ไม่ผาสุก นับแต่พระราชาทรงพบแล้ว จงไปกับพระราชาเสียเถิดนะลูกนะ. นางรับคำบิดาว่า เจ้าค่ะ..ท่านพ่อ ไหว้บิดาแล้วเดินไปร้องไห้ไป. พระราชาทรงพระดำริว่า จำเราจะยึดจิตใจบิดาของหญิงผู้นี้ จึงวางนางไว้บนกองกหาปณะแล้วทรงทำอภิเษก.
จำเดิมแต่พระ ราชาทรงพานางมาถึงนครของพระองค์แล้ว ก็ไม่ทรงเหลียวแลสตรีอื่นๆ เลย ทรงอภิรมย์อยู่กับนางเท่านั้น. เหล่าสตรีอื่นๆ ก็ริษยา ประสงค์จะทำนางให้แตกกันระหว่างพระราชา จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หญิงผู้นี้มิใช่ชาติมนุษย์ดอกเพคะ ดอกปทุมทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในที่พวกมนุษย์ท่องเที่ยวไป พระองค์เคยพบแล้วมิใช่หรือ หญิงผู้นี้ต้องเป็นยักษิณีแน่แล้ว โปรดขับไล่มันไปเถิดเพคะ.
พระราชาทรงสดับคำของสตรี เหล่านั้น ก็ได้แต่ทรงนิ่งอยู่ บังเอิญสมัยนั้น เมืองทางชายแดนก่อการกำเริบ พระนางปทุมวดีก็ทรงพระครรภ์แก่ เพราะฉะนั้น พระราชาจึงทรงคงพระนางไว้ในพระนคร เสด็จไปเมืองชายแดน.
ครั้ง นั้น สตรีเหล่านั้นจึงติดสินบนหญิงผู้รับใช้พระนางสั่งว่า เจ้าจงนำทารกของพระนางที่พอคลอดแล้วออกไป จงเอาท่อนไม้ท่อนหนึ่งทาเลือดแล้ววางไว้ใกล้ๆ แทน ไม่นานนัก พระนางปทุมวดีก็ประสูติ "พระมหาปทุมกุมาร" อยู่ในพระครรภ์พระองค์เดียว. นอกนั้นทารก ๔๙๙ พระองค์ก็บังเกิดเป็น "สังเสทชะ"
(อธิบาย : การเกิด จำแนกเป็น ๔ ลักษณะ คือ ชลาพุชะ อัณฑชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ
ชลาพุชะ คือ สัตว์ที่เกิดในครรภ์ ได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย
อัณฑชะ คือ สัตว์ที่เกิดในไข่ ได้แก่ สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด
สังเสทชะ คือ สัตว์ที่เกิดในเมือกในไคล เช่น แมลง
โอปปาติกะ คือ สัตว์ที่ผุดขึ้นทันใดไม่ต้องอาศัยที่ตั้ง เช่น เทวดา มาร พรหม สัตว์นรก เปรตและมนุษย์ในยุคแรกของวัฒนาการ)
ใน ขณะที่พระมหาปทุมกุมารออกจากครรภ์ของพระมารดาแล้วบรรทมอยู่ ขณะนั้น หญิงรับใช้พระนางรู้ว่าพระนางปทุมวดีนี้ยังไม่ได้สติก็เอาท่อนไม้ท่อนหนึ่ง ทาเลือดแล้ววางไว้ใกล้ๆ แล้วก็ให้สัญญาณนัดหมายแก่สตรีเหล่านั้น สตรีทั้ง ๕๐๐ คนแต่ละคนก็รับทารกคนละองค์ ส่งไปสำนักของเหล่าช่างกลึง ให้นำกล่องทั้งหลาย มาแล้วให้ทารกที่แต่ละคนรับไว้นอนในกล่องนั้น ทำตราเครื่องหมายไว้ภายนอกวางไว้.
ฝ่ายพระนางปทุมวดี รู้สึกพระองค์แล้วถามหญิงรับใช้นั้นว่า ข้าคลอดบุตรหรือจ๊ะแม่นาง. หญิงผู้นั้นพูดขู่พระนางว่า พระนางจักได้ทารกแต่ไหนเล่า มีแต่ทารกที่ออกจากพระครรภ์พระนางอันนี้ แล้วก็วางท่อนไม้ที่เปื้อนเลือดไว้เบื้องพระพักตร์. พระนางทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็เสียพระหฤทัย ตรัสว่า เจ้าจงรีบผ่าท่อนไม้นั้นเอาออกไปเสีย ถ้าใครเขาเห็นจะอับอายขายหน้าเขา. หญิงผู้นั้นฟังพระราชเสาวนีย์ก็ทำเป็นหวังดี ผ่าท่อนไม้แล้วใส่เตาไฟ.
ฝ่าย พระราชาเสด็จกลับจากเมืองชายแดนแล้ว รอพระฤกษ์อยู่ ตั้งค่ายพักอยู่นอกพระนคร. ครั้งนั้น สตรี ๕๐๐ คนก็มาต้อนรับพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์คงจักไม่ทรงเชื่อข้าพระบาททั้งหลายว่า ที่ข้าพระบาทกราบทูลประหนึ่งไม่มีเหตุ ขอได้โปรดสอบถามหญิงรับใช้พระมเหสีดู พระเทวีประสูติเป็นท่อนไม้.
พระ ราชาทรงสอบสวนเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า พระนางคงจักไม่ใช่ชาติมนุษย์แน่ ดังนี้ แล้วทรงขับไล่พระนางออกไปจากพระราชนิเวศน์ พอพระนางเสด็จออกพระราชนิเวศน์เท่านั้น ดอกปทุมทั้งหลายก็อันตรธานไป พระสรีระก็มีผิวพรรณแปลกไป พระนางทรงดำเนินไปในท้องถนนพระองค์เดียว.
ครั้ง นั้น หญิงเจริญวัยผู้หนึ่งแลเห็นพระนางก็เกิดสิเนหาพระนางประดุจว่าเป็นธิดา จึงพูดว่า แม่คุณจะไปไหนจ๊ะ. พระนางตรัสว่า ดิฉันเป็นคนจร กำลังเที่ยวเดินหาที่อยู่จ้ะ. หญิงชราพูดว่า มาอยู่เสียที่นี้ซิจ๊ะ แล้วให้ที่อยู่ จัดแจงอาหารให้เสวย.
เมื่อพระนางอยู่ใน ที่นั้นโดยทำนองนี้ สตรี ๕๐๐ คนนั้นก็ร่วมใจกันกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อพระองค์ประทับค่ายพัก พวกข้าพระบาทมีความปรารถนาว่า เมื่อเทวะของพวกข้าพระบาทชนะสงครามกลับมา จักทรงเล่นกีฬาทางน้ำ เป็นพลีกรรมแก่เทวดาประจำแม่คงคา ขอเทวะโปรดประกาศให้ทราบเรื่องนี้เพคะ.
พระราชาดีพระ หฤทัย ด้วยคำทูลของสตรีเหล่านั้น เสด็จไปทรงกีฬาทางน้ำในแม่พระคงคา หญิงเหล่านั้นถือกล่องที่แต่ละคนรับไว้อย่างมิดชิดไปยังแม่น้ำห่มคลุมเพื่อ ปกปิดกล่องเหล่านั้น ทำเป็นตกน้ำแล้วทิ้งกล่องทั้งหลายเสีย กล่องเหล่านั้นมารวมกันหมดแล้ว ติดอยู่ในข่ายที่เขาขึงไว้ใต้กระแสน้ำ. แต่นั้น เวลาที่พระราชาทรงกีฬาทางน้ำเสด็จขึ้นแล้ว ราชบุรุษทั้งหลายก็ยกตาข่ายขึ้นเห็นกล่องเหล่านั้น จึงนำไปราชสำนัก.
พระ ราชาทอดพระเนตรเห็นกล่องทั้งหลาย จึงตรัสถามว่า อะไรในกล่อง. พอเขากราบทูลว่า ยังไม่ทราบพระเจ้าข้า. ท้าวเธอทรงให้เปิดกล่องเหล่านั้นสำรวจดู ทรงให้เปิดกล่องใส่พระมหาปทุมกุมารเป็นกล่องแรก ในวันนี้พระกุมารเหล่านั้นทั้งหมดบรรทมอยู่ในกล่องทั้งหลาย น้ำนมก็บังเกิดที่หัวนิ้วแม่มือด้วยบุญฤทธิ์.
ท้าวสัก กเทวราชสั่งให้จารึกอักษรไว้ที่ข้างในกล่อง เพื่อพระราชาจะได้ไม่ทรงสงสัยว่า พระกุมารเหล่านี้ประสูติในพระครรภ์ของพระนางปทุมวดี เป็นโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี.
ครั้งนั้น สตรี ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นศัตรูของพระนางปทุมวดี ใส่พระกุมารเหล่านั้นไว้ในกล่องแล้วโยนน้ำ ขอพระราชาโปรดทราบเหตุนี้ พอเปิดกล่องพระราชาทรงอ่านอักษรทั้งหลายแล้วทอดพระเนตรเห็นทารกทั้งหลาย ทรงยกพระมหาปทุมกุมารขึ้น ตรัสสั่งว่า จงรีบเทียมรถจัดม้าไว้ วันนี้เราจักเข้าไปในพระนคร ทำให้เป็นที่รักสำหรับแม่บ้านบางจำพวก แล้วเสด็จขึ้นปราสาท ทรงวางถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ไว้บนคอช้าง โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศ ว่า ผู้ใดพบพระนางปทุมวดี ผู้นั้นจงรับถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะไป.
พระนางปทุมวดีทรงได้ยินคำประกาศนั้น แล้ว ได้ให้สัญญานัดหมายแก่มารดาว่า แม่จ๋า จงรับถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะจากคอช้างเถิด. หญิงชรากล่าวว่า ข้าไม่อาจรับทรัพย์ขนาดนั้นได้ดอก. พระนาง แม้เมื่อมารดาปฏิเสธ ๒-๓ ครั้ง ก็ตรัสว่า แม่พูดอะไร รับไว้เถิดแม่. หญิงชราคิดว่า ลูกของเราคงพบพระนางปทุมวดี เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่ารับไว้เถิด. หญิงชรานั้นจึงจำใจเดินไปรับถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ.
ขณะนั้น ผู้คนทั้งหลายพากันถามหญิงชรานั้นว่า คุณแม่ เห็นพระนางปทุมวดีเทวีหรือ. หญิงชราตอบว่า ข้าไม่เห็นดอกแต่ลูกสาวของข้าเห็น. ผู้คนเหล่านั้นถามว่า ก็ลูกสาวของคุณแม่อยู่ที่ไหนเล่า แล้วก็เดินไปกับหญิงชรานั้น จำพระนางปทุมวดีได้ก็พากันหมอบอยู่แทบยุคลบาท.
ในเวลา นั้น หญิงชรานั้นก็ชี้ว่า นี้พระนางปทุมวดีเทวี แล้วกล่าวว่า ผู้หญิงทำกรรมหนักหนอ เป็นถึงพระมเหสีของพระราชาอย่างนี้ ยังอยู่ปราศจากอารักขา ในสถานที่เห็นปานนี้ ราชบุรุษเหล่านั้นเอาม่านขาววงล้อมเป็นนิเวศน์ของพระนางปทุมวดี ตั้งกองอารักขาไว้ใกล้ประตู แล้วกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาทรงส่งสุวรรณสีวิกา พระวอทองไปรับ.
พระนางรับ สั่งว่า เราจะไม่ไปอย่างนี้ เมื่อพวกท่านลาดเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ระหว่างตั้งแต่สถานที่อยู่ของเราจนถึงพระราชนิเวศน์ ให้ติดเพดานผ้าอันวิจิตรด้วยดาวทองไว้ข้างบน แล้วส่งสรรพอาภรณ์เพื่อประดับไป เราจักเดินไปด้วยเท้า ชาวพระนครจักเห็นสมบัติของเราอย่างนี้ พระราชาตรัสว่า พวกท่านจงทำตามความชอบใจของปทุมวดี แต่นั้น พระนางปทุมวดีทรงพระดำริว่า เราจักประดับเครื่องประดับทุกอย่างเดินไปพระราชนิเวศน์แล้วเสด็จเดินทาง.
ครั้ง นั้น ดอกปทุมทั้งหลายก็ชำแรกเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ผุดขึ้นในที่ทุกย่างก้าวพระบาทของพระนาง. พระนางครั้นแสดงสมบัติของพระองค์แก่มหาชนแล้ว เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ โปรดประทานเครื่องลาดอันวิจิตรทั้งหมดเป็นค่าเลี้ยงดูแก่หญิงชรานั้น.
พระ ราชารับสั่งให้เรียกสตรี ๕๐๐ คนมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนเทวี เราให้หญิงเหล่านี้เป็นทาสีของเจ้า. พระนางทูลว่า ดีละเพคะ หม่อมฉันขอให้ทรงประกาศให้ชาวเมืองทั่วไปได้ทราบว่า หญิงเหล่านี้พระราชทานแก่หม่อมฉันแล้ว. พระราชาก็โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศว่า หญิง ๕๐๐ คนผู้ประทุษร้ายพระนางปทุมวดี เราให้เป็นทาสีของพระนางพระองค์เดียว.
พระ นางปทุมวดีนั้นทรงทราบว่า ในนครทั่วไป กำหนดรู้ว่า หญิงเหล่านั้นเป็นทาสีแล้ว จึงทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่เทวะ หม่อมฉันจะทำทาสีของหม่อมฉันให้เป็นไท ได้ไหมเพคะ. พระราชารับสั่งว่า เทวี เจ้าต้องการก็ได้สิ.
พระนางกราบทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอได้ทรงโปรดให้เรียกคนตีกลองป่าวประกาศสั่งให้เขาตีกลองป่าวประกาศอีกว่า พวกทาสีที่พระองค์พระราชทานแก่พระนางปทุมวดี พระนางทำให้เป็นไทหมดทั้ง ๕๐๐ คนแล้ว. เมื่อสตรีเหล่านั้นเป็นไทแล้ว พระนางก็มอบพระโอรส ๔๙๙ พระองค์ให้สตรีเหล่านั้นเลี้ยงดู. ส่วนพระองค์เองทรงรับเลี้ยงดูเฉพาะพระมหาปทุมกุมารเท่านั้น.
ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เมื่อ ถึงเวลาพระราชกุมารเหล่านั้นทรงเล่นได้ พระราชาก็โปรดให้สร้างสนามเล่นต่างๆ ไว้ในพระราชอุทยาน พระราชกุมารเหล่านั้นมีพระชันษาได้ ๑๖ พรรษา ทุกพระองค์ก็พร้อมกันลงเล่นในมงคลโบกขรณี ที่ปกคลุมด้วยปทุมในพระราชอุทยาน ทรงเห็นปทุมดอกใหม่บาน ดอกเก่ากำลังหล่นจากขั้ว ก็พิจารณาเห็นว่า
ดอกปทุมนี้ไม่มีใจครอง ยังประสบชราเห็นปานนี้ ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงสรีระของพวกเราเล่า แม้สรีระนี้ก็คงจักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน แล้วทรงยึดเป็นอารมณ์ ทุกพระองค์บังเกิดปัจเจกพุทธญาณ แล้วพากันลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิ ณ กลีบดอกปทุม.
ขณะ นั้น พวกราชบุรุษที่ไปกับพระราชกุมารเหล่านั้นรู้ว่าสายมากแล้ว จึงทูลว่า พระลูกเจ้า..เจ้าข้า ขอได้โปรดทราบเวลาของพระองค์ พระราชกุมารทั้งหมดนั้นก็นิ่งเสีย.
ราชบุรุษเหล่านั้น ก็พากันไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่เทวะ พระราชกุมารทั้งหลายประทับนั่งในกลีบดอกปทุม เมื่อพวกข้าพระบาทกราบทูล ก็ไม่ทรงเปล่งพระวาจาเลย. พระราชาตรัสว่า พวกเจ้าจงให้พวกเขานั่งตามชอบใจเถิด.
พระราชกุมารเหล่า นั้นได้รับอารักขาตลอดคืนยังรุ่ง ก็ประทับนั่งในกลีบดอกปทุมทำนองนั้นนั่นแหละจนอรุณจับฟ้า. พวกราชบุรุษก็กลับไป รุ่งขึ้นจึงพากันเข้าไปเฝ้าทูลว่า ขอเทวะทั้งหลาย โปรดทราบเวลาเถิด พระเจ้าข้า.
ทุกพระองค์ตรัสว่า พวกเราไม่ใช่เทวะ พวกเราชื่อว่า "พระปัจเจกพุทธะ"
พวก เขากราบทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้าทั้งหลาย พระองค์ตรัสพระดำรัสหนัก พระเจ้าข้า ธรรมดาว่าพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายไม่เป็นเช่นพระองค์ดอก ต้องมีหนวดเครา ๒ องคุลี มีบริขาร ๘ สวมพระกายสิ พระเจ้าข้า.
พระ ราชกุมารเหล่านั้นเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียร ทันใดนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ก็อันตรธานหายไป กลายเป็นผู้มีบริขาร ๘ สวมพระวรกาย แล้วก็เสด็จไปเงื้อมเขานันทมูลกะ ทั้งที่มหาชนกำลังมองดูอยู่นั่นแล.
พระนางปทุมวดีสวรรคต
ฝ่าย พระนางปทุมวดีก็ทรงเศร้าโศกพระหฤทัยว่า เรามีลูกมาก แต่ก็จำพลัดพรากกันไป. เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคนั้นนั่นแล บังเกิดในสถานของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีพ ในหมู่บ้านใกล้ประตูกรุงราชคฤห์.
ต่อมา นางมีเหย้าเรือนแล้ว วันหนึ่ง กำลังนำข้าวยาคูไปให้สามี ก็แลเห็นพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์อยู่ในจำนวนบุตรเหล่านั้นของตน ซึ่งกำลังเหาะไปในเวลาแสวงหาอาหาร จึงรีบไปบอกสามีว่า เชิญดูพระผู้เป็นเจ้าปัจเจกพุทธะ ช่วยนิมนต์ท่านมา เราจักถวายอาหาร สามีพูดว่า ขึ้นชื่อว่าพวกนก ก็บินเที่ยวไปอย่างนั้น นั่นไม่ใช่พระปัจเจกพุทธะดอก.
พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้น ก็ลงในที่ไม่ไกลคนทั้ง ๒ นั้น ซึ่งกำลังพูดจากันอยู่ หญิงนั้นก็ถวายโภชนะคือข้าวสวยและกับแกล้มสำหรับตนในวันนั้น แด่พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้นแล้วนิมนต์ว่า พรุ่งนี้ ท่านทั้ง ๘ ขอโปรดรับอาหารของดิฉันด้วย.
พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้น กล่าวว่า ดีละท่านอุบาสิกา ท่านมีสักการะและมีอาสนะ ๘ ที่เท่านั้น ก็พอเห็นพระปัจเจกพุทธะองค์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ก็จงคงจิตใจของท่านไว้.
วัน รุ่งขึ้น นางก็ปูอาสนะไว้ ๘ ที่ นั่งจัดสักการะสำหรับพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์ พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายที่รับนิมนต์ จึงให้สัญญานัดหมายแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธะนอกนั้นว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย วันนี้อย่าไปที่อื่น ทั้งหมดจงช่วยกันสงเคราะห์โยมมารดาของพวกท่านเถิด. ฟังคำของพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์นั้นแล้วทุกองค์ก็เหาะไปพร้อมกัน ปรากฏอยู่ที่ประตูเรือนของมารดา.
แม้ นางเห็นพระปัจเจกพุทธะจำนวนมากกว่าสัญญาที่ได้รับคราวแรก ก็มิได้หวั่นไหว นิมนต์ทุกองค์เข้าไปเรือนให้นั่งเหนืออาสนะ. เมื่อพระปัจเจกพุทธะกำลังนั่งตามลำดับ องค์ที่ ๙ ก็เนรมิตอาสนะเพิ่มขึ้นอีก ๘ ที่ ตนเองนั่งเหนืออาสนะที่ไกล. เรือนก็ขยายตามเท่าที่อาสนะเพิ่มขึ้น.
เมื่อพระปัจเจก พุทธะทุกองค์นั่งอย่างนั้นแล้ว หญิงนั้นก็ถวายสักการะที่จัดไว้สำหรับพระปัจเจกพุทธะ ๘ องค์จนเพียงพอเท่าพระปัจเจกพุทธะ ๕๐๐ องค์ แล้วจึงนำเอาดอกอุบลขาบทั้ง ๘ ดอกที่อยู่ในมือวางไว้แทบเท้าของพระปัจเจกพุทธะที่นิมนต์มาเท่านั้น กล่าวอธิษฐานว่า ท่านเจ้าข้า ขอผิวกายของดิฉันจงเป็นประดุจผิวภายในห้องดอกอุบลขาบเหล่านี้ ในสถานที่ที่ดิฉันเกิดแล้วเกิดอีกนะเจ้าข้า.
พระปัจเจก พุทธะทั้งหลาย ท่านอนุโมทนาแก่มารดาแล้วก็ไปสู่เขาคันธมาทน์ แม้หญิงนั้นทำกุศลจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก.
ได้รับตำแหน่งเป็นผู้เลิศฝ่ายผู้มีฤทธิ์
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวเศรษฐี. ก็เพราะนางมีผิวพรรณเสมอด้วยดอกอุบลขาบ. บิดามารดาจึงขนานนามของนางว่า "อุบลวรรณา"
เมื่อ เวลานางเจริญวัย พระราชาทั่วชมพูทวีปก็ส่งคนไปสำนักเศรษฐีขอนาง ไม่มีราชาพระองค์ใดที่ไม่ส่งคนไปขอ. แต่นั้น เศรษฐีคิดว่า เราไม่อาจยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทุกคนได้ แต่จำเราจะทำอุบายสักอย่างหนึ่ง จึงเรียกธิดามาถามว่า เจ้าบวชได้ไหมลูก. เพราะเหตุที่นางเกิดในภพสุดท้าย คำของบิดานั้นจึงเป็นเหมือนน้ำมันเคี่ยว ๑๐๐ ครั้งราดลงบนศีรษะ. เพราะเหตุนั้น นางจึงกล่าวกะบิดาว่า บวชได้จ้ะพ่อ.
เศรษฐี นั้นจึงทำสักการะแก่นางแล้วนำไปสำนักภิกษุณี ให้บวช เมื่อนางบวชใหม่ๆ ถึงเวร [วาระ] ในโรงอุโบสถ. นางตามประทีปกวาดโรงอุโบสถ ถือเอานิมิตที่เปลวประทีป ตรวจดูบ่อยๆ ก็ทำฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้ฌานบังเกิด แล้วทำฌานนั้นให้เป็นบาท ก็บรรลุพระอรหัต. พร้อมด้วยพระอรหัตผลนั่นแล ก็เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่างๆ.
ต่อมา ในวันที่พระศาสดาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์ถวาย.
พระ ศาสดาทรงทำเหตุอันนี้ให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง ประทับนั่ง ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้มีฤทธิ์ แล.กำเนิดเป็นปิบผลิมาณพ ในสมัยพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ใน ระหว่างที่คนทั้งสองนั้นอยู่ในพรหมโลก พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ เมื่อครั้งพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น ปิบผลิมาณพนี้ก็จุติมาบังเกิดในท้องภรรยาหลวงของกบิลพราหมณ์ ในหมู่บ้านของพวกพราหมณ์ชื่อ "มหาติตถะ" ในนครมคธ
นางภัททากาปิลานี ก็มาเกิดในท้องของภรรยาหลวงของพราหมณ์ โกลิยโคตร ในสาคลนคร ในนครมคธเช่นกัน เมื่อท่านทั้งสองนั้นเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเมื่อ นางภัททา มีอายุได้ ๑๖ ปี และ ปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล ด้วยอำนาจบุพเพสันนิวาสท่านทั้งสองก็ต้องแต่งงานกัน แต่ก็ถือพรหมจรรย์จนกระทั่งออกบวช แล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ดังที่เล่าผ่านไปแล้ว
ฉะนั้น อาการทรงรับพระมหากัสสปะเข้าในพระธรรมวินัย และโปรดให้รับพระพุทธโอวาท ๓ ข้อ พระอรรถกถาจารย์แยกเป็นวิธีอุปสัมปทาอย่างหนึ่ง ดุจประทานแก่ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ด้วยให้รับ ครุธรรม ๘ ประการ แต่วิธีหลังแลเห็นชัด เพราะเป็นครั้งแรกที่ประทานสัมปทาแก่สตรีให้เป็นภิกษุณี และไม่ได้ประทาน "เอหิภิกขุนีอุปสัมปทา" เลย ส่วนวิธีต้น เห็นไม่พ้นไปจากประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
พระมหากัสสปะได้ฟังพุทธโอวาททรง สั่งสอนแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่แปดแต่อุปสมบท ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาโดยอาการเฉพาะพระองค์ คือทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้ปฏิบัติมักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า
ภิกษุ ทั้งหลาย กัสสปะผู้นี้ เป็นผู้สันโดษ ยินดีด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ตามมีตามได้ ไม่มักมาก และกล่าวสรรเสริญคุณของความสันโดษด้วยปัจจัยสี่นั้น เธอไม่ถึงความแสวงหาไม่ควร เหตุปัจจัยสี่นั้น แสวงหาไม่ได้ ก็ไม่สุะดุ้งตกใจ แสวงหาได้แล้ว ก็ไม่เป็นคนกำหนดในปัจจัยสี่นั้นบริโภค ท่านทั้งหลายพึงศึกษาตามอย่างนั้น ท่านทั้งหลายอันเราสั่งสอนแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อเป็นเช่นนั้นเถิด
ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเข้าไปใกล้สกุลชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคยเป็นนิตย์ ไม่คะนองกาย วาจา ใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้นเพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภ ก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ ก็จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นได้ก็มีใจฉันนั้น ภิกษุใดแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยคิดว่า ไฉนหนอ เขาพึงตั้งใจฟังธรรมของเรา ครั้นฟังธรรมแล้วจะพึงเลื่อมใสในธรรม เลื่อมใสแล้วจะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใส ธรรมเทศนาของภิกษุนั้นไม่บริสุทธิ์
ส่วน ภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้อื่นด้วยคิดว่า ธรรมอันพระศาสดากล่าวดีแล้ว ไฉนหนอเขาจะพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วจะพึงรู้ธรรมนั้น ครั้นรู้แล้วจะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้น อาศัยความที่แห่งธรรมเป็นธรรมอันดี อาศัยกรุณาและเอ็นดูแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ธรรมเทศนาของภิกษุนั้นบริสุทธิ์แล้ว กัสสปะก็เหมือนอย่างนั้น เราสอนท่านทั้งหลาย ยกกัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง ท่านทั้งหลายอันเราสอนแล้ว จงปฏิบัติเพื่อเป็นอย่างนั้น
พระมหากัสสปะนั้น โดยปกติถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถืออยู่ป่าเป็นวัตร พระศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นเยี่ยมแห่งภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่เวฬุวัน พระศาสดาตรัสแก่ท่านว่า
กัส สปะ..เดี๋ยวนี้ท่านแก่แล้ว ผ้าป่าบังสุกุลจีวรที่เขาไม่นุ่งห่มของท่านนี้หนักนัก ท่านทรงจีวรที่คฤหบดีถวายเถิด จงฉันโภชนะในที่นิมนต์เถิด และจงอยู่ในที่ใกล้เราเถิด
ท่านทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเคยอยู่ในป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ใช้แต่ผ้าสามผืน มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบเงียบสงัด ไม่ชอบระคนด้วยหมู่ ปรารภความเพียรและพูดสรรเสริญคุณเช่นนั้นมานานแล้ว พระศาสดาตรัสถามว่า
กัสสปะ..ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงประพฤติตนเช่นนั้น และสรรเสริญความเป็นเช่นนั้น ท่านทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์สองอย่าง คือการอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตนด้วย อนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังด้วย ประชุมชนภายหลังทราบว่า สาวกของพระพุทธเจ้า ท่านประพฤติตนอย่างนั้น จักถึงทิฏฐานุคติ ปฏิบัติตามที่ตนได้เห็นได้ยิน ความปฏิบัตินั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขแก่เขาสิ้นกาลนาน
พระ ศาสดาประทานสาธุการว่า ดีละ..ดีละ..กัสสปะ ท่านปฏิบัติเพื่อประโยชน์และสุขแก่ชนเป็นอันมาก ท่านจงทรงผ้าบังสุกุลจีวรของท่านเถิด ท่านจงเที่ยวบิณฑบาตเถิด ท่านจงอยู่ในป่าเถิด
ด้วยความมักน้อยสันโดษ และปฏิบัติเคร่งครัดอย่างนี้ พระมหากัสสปะ ย่อมเป็นที่นับถือของสกุลทั้งหลาย มีคำกล่าวว่า ในกรุงราชคฤห์ สกุลที่ไม่ใช่ญาติก็คงเป็นอุปัฏฐากของท่าน แต่ท่านก็มิได้พัวพันห่วงใยอยู่ในสกุลเหล่านั้น ถึงคราวที่พระศาสดาจะเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ ท่านก็เตรียมตัวตามเสด็จโดยฐานเป็นสาวก แต่พระศาสดาตรัสให้อยู่เพื่อเจริญศรัทธา และปสาทะของชาวกรุงราชคฤห์ก็มี
พระ มหากัสสปะนั้น ดีในการปฏิบัติ แต่หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ท่านระอาภิกษุปูนหลังว่าเป็นผู้ว่ายาก ธรรมเทศนาอันเป็นอนุศาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากสากัจฉา กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง อย่างไรก็ดีเรื่องที่เกี่ยวกับท่าน พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวมสังคีติไว้หมวดหนึ่งในสังยุตนิกาย เรียกว่า กัสสปสังยุต เป็นการไว้เกียรติคุณแห่งพระเถรเจ้า พระมหากัสสปเถระ กับการบัญญัติพระวินัยบางข้อ
ใน การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธองค์นั้น จะทรงบัญญัติขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุให้ทรงต้องบัญญัติ จะไม่ทรงบัญญัติโดยไม่มีเหตุ พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นนั้น หลายข้อก็มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับพระมหากัสสปเถระดังนี้
อุปสมบทกรรม สวดอุปสัมปทาเปกขะระบุโคตร
ครั้ง หนึ่ง มีผู้ประสงค์จะบวชในสำนักของท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัสสปจึงส่งทูตไปยังสำนักท่านพระอานนท์เพื่ออาราธนาท่านพระอานนท์ ให้มาสวดอุปสัมปทาเปกขะ ซึ่งการสวดอุปสัมปทาเปกขะนี้ผู้สวดจะต้องระบุนามของพระอุปัชฌาย์
ท่านพระ อานนท์จึงตอบปฏิเสธไปเนื่องจากท่านไม่สามารถจะระบุนามของพระมหากัสสปได้ เพราะพระมหากัสสปเป็นที่เคารพของท่าน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอนุญาตให้สวดระบุโคตรแทนการระบุนามได้.
อุปสมบทคู่
สมัย หนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมีผู้ประสงค์จะบวชอยู่ ๒ คน ทั้งสองแก่งแย่งกันเพื่ออุปสมบทก่อน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตให้ทำการอุปสมบทภิกษุ ๒ รูปในอนุสาวนาเดียวกัน.
พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ
สมัย หนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำเชี่ยวท่านเกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่าน ท่านจึงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยว่า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร.
พระพุทธานุญาตการเย็บดามผ้าด้วยด้าย
สมัย หนึ่ง ผ้าอุตราสงค์ที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล ของท่านพระมหากัสสปเป็นของหนัก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค จึงทรงอนุญาตให้ทำการเย็บดามด้วยด้าย
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖ เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี
สมัย นั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายชาวรัฐอาฬวี สร้างกุฎีซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่มีกำหนด (ในขณะนั้นยังไม่มีพุทธบัญญัติเรื่องขนาดของกุฎี) กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ
พวกภิกษุเหล่านั้นจึงต้องมี การวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไป ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปเสียทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตู เสียบ้าง แม้พบแม่โคเข้าก็หนี สำคัญว่าพวกภิกษุ.
ครั้ง นั้น ท่านพระมหากัสสปจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ แล้วออกเดินทางมุ่งไปรัฐอาฬวี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับถึงรัฐอาฬวีแล้ว พักอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปเข้าไปบิณฑบาต ในรัฐอาฬวี
ประชาชนเห็น ท่านพระมหากัสสปแล้วหวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หลบหนีไปบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง ครั้นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามถึงเหตุดังกล่าว ภิกษุจึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระมหากัสสปทราบ
ครั้น เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปถึงรัฐอาฬวีแล้ว ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ท่านพระมหากัสสปจึงเข้าไปเฝ้า แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับ นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวี ถึงเหตุดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ ภิกษุชาวรัฐอาฬวีเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระ ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และ เพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
ครั้นพระ ผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้ แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้ดังนี้
พระบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการ ขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ
หาก ภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณเป็นสังฆาทิเสส.ดังนี้:- พระมหากัสสปเถระโปรดพุทธบริษัท
เรื่องถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ
(ธัมมปทัฏฐกถา ปุปผวรรควรรณนา)
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อัปปะมัตโต อะยัง คันโธ" เป็นต้น.
นางอัปสรอยากทำบุญแต่ไม่สมหวัง
ความ พิสดารว่า วันหนึ่ง พระเถระออกจากนิโรธสมาบัติ โดยล่วงไป ๗ วัน ออกไปแล้ว ด้วยคิดว่า "จักเที่ยวบิณฑบาต ตามลำดับตรอก ในกรุงราชคฤห์." ในสมัยนั้น นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าเหมือนเท้านกพิราบ เป็นบริจาริกาของท้าวสักกเทวราช เกิดความอุตสาหะว่า " จักถวายบิณฑบาตแก่พระเถระ"
จึงตระเตรียมบิณฑบาต ๕๐๐ ที่ แล้วถือมายืนอยู่ในระหว่างทาง กล่าวว่า "นิมนต์รับบิณฑบาตนี้ เจ้าข้า, โปรดทำความสงเคราะห์แก่พวกดิฉันเถิด."
พระเถระกล่าวตอบว่า พวกเจ้าจงไปเสียเถิด, ฉันจักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ.
นางอัปสร. ขอท่านอย่าให้พวกดิฉันฉิบหายเสียเลย เจ้าข้า, โปรดทำความสงเคราะห์พวกดิฉันเถิด.
พระ เถระรู้แล้ว จึงห้ามเสียอีก แล้วดีดนิ้ว ( บอก) นางอัปสรทั้งหลายผู้ไม่ปรารถนาจะหลีกไปยังอ้อนวอนอยู่ว่า "พวกเจ้าไม่รู้จักประมาณตัว, จงหลีกไป." นางอัปสรเหล่านั้น ฟังเสียงนิ้วมือของพระเถระแล้ว ไม่อาจเพื่อจะยืนขัดแข็งอยู่ได้ จึงหนีไปยังเทวโลกตามเดิม อันท้าวสักกะตรัสถามว่า "พวกหล่อนไปไหนกันมา"
จึงทูลว่า "หม่อมฉันพากันไปด้วยหมายว่า จักถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ผู้ออกจากสมาบัติ พระเจ้าข้า.
สักกะ. ก็พวกหล่อนถวายแล้วหรือ ?
นางอัปสร. พระเถระไม่ปรารถนาจะรับ.
สักกะ. พระเถระพูดอย่างไร ?
นางอัปสร. " ท่านพูดว่า จักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ'
พระเจ้าข้า.
สักกะ. พวกหล่อนไปกันด้วยอาการอย่างไร ?
นางอัปสร. ไปด้วยอาการนี้แล พระเจ้าข้า.
ท้าวสักกะแปลงตัวทำบุญแก่พระเถระ
ท้าว สักกะ ตรัสว่า "หญิงเช่นพวกหล่อน จักถวายบิณฑบาตแก่พระเถระได้อย่างไร?" ประสงค์จะถวายด้วยพระองค์เอง จึงแปลงเป็นคนแก่คร่ำคร่าด้วยอำนาจชรา มีฟันหัก มีผมหงอก หลังโกง เป็นช่างหูกผู้เฒ่า ทรงทำแม้นางสุชาดาผู้เทพธิดา ให้เป็นหญิงแก่ เหมือนอย่างนั้นนั่นแล แล้วทรงนิรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่งประทับขึงหูกอยู่.
ฝ่าย พระเถระ เดินบ่ายหน้าเข้าเมือง ด้วยหวังว่า "จักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ" เห็นถนนสายนั้น นอกเมืองนั้นแล แลดูอยู่ก็ได้เห็นคน ๒ คน. ในขณะนั้น ท้าวสักกะกำลังขึงหูก, นางสุชาดากรอหลอด. พระเถระคิดว่า " สองคนนี้ แม้ในเวลาแก่ก็ยังทำงาน,
ใน เมืองนี้ผู้ที่จะเข็ญใจกว่าสองคนนี้เห็นจะไม่มี, เราจักรับภัตแม้ประมาณกระบวยหนึ่งที่สองคนนี้ถวายแล้ว ทำความสงเคราะห์แก่คนสองคนนี้." พระเถระได้บ่ายหน้าไปตรงเรือนของตนทั้งสองนั้นแล.
ท้าว สักกะ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระนั้นมาอยู่ จึงตรัสกะนางสุชาดาว่า "หล่อน พระผู้เป็นเจ้าของเรา เดินมาทางนี้, เธอจงนั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็นท่านเสีย, ฉันจักลวงท่านสักครู่หนึ่ง แล้วจึงถวายบิณฑบาต."
พระเถระได้มายืนอยู่ที่ประตูเรือนแล้ว. แม้สองผัวเมียนั้นก็ทำเป็นเหมือนไม่เห็น ทำแต่การงานของตนฝ่ายเดียว คอยอยู่หน่อยหนึ่งแล้ว .
ครั้งนั้น ท้าวสักกะตรัสว่า "ที่ประตูเรือนดูเหมือน (มี) พระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง, เธอจงไปตรวจดูก่อน." นางสุชาดาตอบว่า
"ท่าน จงไปตรวจดูเถอะ นาย." ท้าวเธอเสด็จออกจากเรือนแล้ว, ทรงไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว. เอาพระหัตถ์ทั้งสองเท้าพระชานุแล้ว ถอนใจ เสด็จลุกขึ้น. ย่อพระองค์ลงหน่อยหนึ่ง ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้า เป็นพระเถระรูปไหนหนอแล ?" แล้วตรัสว่า "ตาของผมฝ้าฟาง"
ดังนี้แล้ว, ทรงวางพระหัตถ์ไว้เหนือพระนลาต (ป้องหน้า) ทรงแหงนดูแล้ว, ตรัสว่า " โอ ตายจริง !, พระผู้เป็นเจ้า พระมหากัสสปเถระของเรา นาน ๆ จึงมายังประตูกระท่อมของเรา, มีอะไรอยู่ในเรือนบ้างไหม ?" นางสุชาดาทำเป็นกุลีกุจออยู่หน่อยหนึ่งแล้ว ได้ให้คำตอบว่า "มี..นาย"
ท้าว สักกะ ตรัสว่า "ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้า อย่าคิดเลยว่า 'ทานเศร้าหมอง หรือประณีต' โปรดทำความสงเคราะห์แก่กระผมทั้งสองเถิด" ดังนี้แล้ว ก็ทรงรับบาตรไว้, พระเถระคิดว่า
"ทานที่สองผัวเมียนั่น ถวายแล้ว จะเป็นน้ำผักดองหรือรำกำมือหนึ่งก็ตามที, เราจักทำความสงเคราะห์แก่สองผัวเมียนั้น" ดังนี้แล้ว จึงได้ให้บาตรไป.
ท้าว สักกะนั้น เสด็จเข้าไปภายในเรือนแล้ว ทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อใส่เต็มบาตรแล้ว มอบถวายในมือพระเถระ. บิณฑบาตนั้นได้มีสูปพยัญชนะมากมาย ได้หอมตลบทั่วกรุงราชคฤห์แล้ว. ท้าวสักกะตรัสบอกความจริงแก่พระเถระ
ในกาลนั้น พระเถระคิดว่า "ชายนี้ มีศักดิ์น้อย, บิณฑบาตมีศักดิ์มาก เช่นกับโภชนะของท้าวสักกะ, นั่น ใครหนอ ?"
ครั้ง นั้นพระเถระทราบชายนั้นว่า " ท้าวสักกะ" จึงกล่าวว่า "พระองค์ทรงแย่งสมบัติของคนเข็ญใจ ( จัดว่า ) ทำกรรมหนักแล้ว . ใคร ๆ ก็ตามที่เป็นคนเข็ญใจ ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้ พึงได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งเศรษฐี."
สักกะ. ผู้ที่เข็ญใจไปกว่ากระผม ไม่มีเลย ขอรับ.
พระเถระ, พระองค์เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก จะจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะเหตุไร ?
สักกะ. อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าว่า ก็ถูกละ ขอรับ. แต่เมื่อพระพุทธเจ้า ยังมิทรงอุบัติ, กระผมได้ทำกัลยาณกรรมไว้. เมื่อพุทธุปบาทกาลยังเป็นไปอยู่, เทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์เหล่านี้ คือ จูฬรถเทพบุตร, มหารถเทพบุตร, อเนกวัณณเทพบุตร ทำกัลยาณกรรมแล้ว ได้เกิดในที่ใกล้ของกระผม มีเดชมากกว่ากระผม;
ก็ กระผม เมื่อเทพบุตรทั้งสามนั้นพาพวกบริจาริกาลงสู่ระหว่างถนน ด้วยคิดว่า 'จักเล่นนักขัตฤกษ์' ต้องหนีเข้าตำหนัก, เพราะเดชจากสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้น ท่วมทับสรีระของกระผม, เดชจากสรีระของกระผม ไม่ท่วมทับสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้น, ใครจะเข็ญใจกว่ากระผมเล่า ? ขอรับ.
พระเถระ. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป พระองค์อย่าได้ลวงถวายทานแก่อาตมภาพอย่างนั้น.
สักกะ. เมื่อกระผมลวงถวายทานแก่ท่าน, กุศลจะมีแก่กระผมหรือไม่มี ?
พระเถระ. มี พระองค์.
สักกะ. เมื่อเป็นอย่างนั้น การทำกุศลกรรมก็จัดเป็นหน้าที่ของกระผมซิ ขอรับ.
ท้าวเธอตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงไหว้พระเถระ พานางสุชาดาทรงทำปทักษิณพระเถระแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงเปล่งอุทานว่า :-
"โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสป."
เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ จึงกล่าวไว้ใน "มหากัสสสปเถรทานสูตร" ว่า :-
"ครั้ง นั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์. ได้ทรงสดับเสียงของท้าวสักกะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเหล่าเทพเจ้า ทรงเปล่งอุทาน เสด็จไปทางอากาศ."
ภิกษุ. ก็ท้าวสักกะนั้น ทำอะไร ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ท้าวเธอลวงถวายบิณฑบาตแก่กัสสปผู้บุตรของเรา, ครั้นถวายบิณฑบาตนั้นแล้ว ดีพระทัย พลางทรงเปล่งอุทานไป.
ภิกษุ. ท้าวเธอทราบได้อย่างไรว่า "ถวายบิณฑบาตแก่พระเถระควร พระเจ้าข้า?"
พระ ศาสดาตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์ย่อมพอใจ ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ชื่อว่าเช่นบุตรของเรา" ดังนี้แล้ว แม้พระองค์เองก็ทรงเปล่งอุทานแล้ว.
ก็ในพระสูตร คำมาแล้วเท่านี้นั่นเทียวว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับแล้วแล ซึ่งเสียงของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพเจ้า ผู้เหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้ง ในอากาศกลางหาวว่า :-
"โอ..ทาน ที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสป, โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้ในท่านพระกัสสป, โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสป." ด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ หมดจดล่วงเสียซึ่งโสตของมนุษย์."
ครั้ง นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า:- " เทวดาและมนุษย์ ย่อมพอใจ แก่ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตัวเอง มิใช่เลี้ยงผู้อื่น ผู้มั่นคง ผู้เข้าไปสงบแล้ว มีสติทุกเมื่อ."
ก็ แลครั้นทรงเปล่งอุทานนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเหล่าเทพเจ้า ได้เสด็จมาถวายบิณฑบาตแก่บุตรของเราเพราะกลิ่นศีล " ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
อัปปะมัตโต อะยัง คันโธ ยะวายัง ตะคะระจันทะนี
โย จะ สีละวะตัง คันโธ วาติ เทเวส อุตตะโม.
" กลิ่นนี้ คือ กลิ่นกฤษณา และกลิ่นจันทน์
เป็นกลิ่นเพียงเล็กน้อย, ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย
เป็นกลิ่นชั้นสูง ย่อมหอมฟุ้งไปในเทพเจ้าและเหล่ามนุษย์."
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. เทศนาเกิดประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.โปรดหญิงถวายข้าวตอก
ความพิสดารว่า ครั้งหนึ่ง ท่านพระมหากัสสป อยู่ที่ปิปผลิคูหา เข้าฌานแล้ว ออกในวันที่ ๗ เมื่อออกจากฌานแล้วท่านได้พิจารณาด้วยทิพยจักษุเพื่อพิจารณาบุคคลที่ควรโปรด เห็นหญิงรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอกอยู่
ท่าน ได้เห็นว่าหญิงนี้มีศรัทธาจึงได้เดินทางไปโปรด นางกุลธิดาพอเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส จึงได้นำข้าวตอกไปถวายพระเถระแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ และได้ทำความปรารถนา ขอเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว
ในระหว่างนาง เดินทางกลับนางได้นึกถึงทานที่ตนได้ถวายไปเกิดจิตเป็นกุศลอยู่ แต่บนทางที่นางเดินทางกลับนั้น นางได้ถูกงูพิษร้ายกัด และถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นเอง.
ด้วยจิตอันเป็นกุศลก่อนที่จะตาย นางจึงได้ไปเกิดในวิมานทอง ในภพดาวดึงส์ ประดับเครื่องอลังการ แวดล้อมด้วยนางอัปสรตั้งพัน ที่ประตูวิมานอันประดับด้วยขันทองคำ เต็มไปด้วยข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่
นางเทพธิดานั้น ต้องการจะทราบว่าตนทำกรรมเช่นไรจึงได้สมบัตินี้ เมื่อพิจารณาด้วยทิพยจักษุแล้วจึงได้รู้ว่า สมบัตินี้ได้มาเพราะผลแห่งข้าวตอกที่ถวายพระมหากัสสปเถระนางจึงคิดว่า สมบัติที่นางได้เช่นนี้เป็นเพราะได้กระทำกรรมไว้เพียงนิดหน่อย นางไม่ควรประมาท,ควรจะกระทำการปฏิบัติแก่พระพระมหาเถระนั้นเพื่อทำสมบัติ นั้นให้ถาวร
นางจึงไปยังที่พักของพระมหาเถระ แล้วไปปัดกวาดบริเวณของพระเถระ แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้แต่เช้าตรู่.พระเถระเห็นเช่นนั้น สำคัญว่าภิกษุหนุ่มหรือสามเณรบางรูปทำให้ท่าน.ในวันรุ่งขึ้นนางก็ได้ทำเช่น เดียวกันอีก ฝ่ายพระเถระก็เข้าใจเช่นเดิม จนกระทั่งในวันที่ ๓ พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดของนางและเห็นรัศมีของนางฉายเข้าไปทางช่องลูกดาล จึงเปิดประตูออกมา ถามว่า “นั่นใคร ?”
นางเทพธิดาจึงตอบ แล้วเล่าเรื่องความประสงค์ของตนให้พระเถระฟัง พระเถระจึงห้ามมิให้นางกระทำต่อไป เพื่อมิให้.มีผู้กล่าวในอนาคตว่า มีนางเทพธิดามาทำวัตรปฏิบัติ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ เพื่อพระมหากัสสปเถระ
นาง เทพธิดาจึงอ้อนวอนในความประสงค์ของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก พระเถระเห็นว่านางเทวธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังถ้อยคำ จึงปรบมือขึ้น ด้วยเสียงปรบมือขับไล่ของพระมหาเถระดังกล่าว นางเทพธิดาไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ จึงเหาะขึ้นในอากาศ ยืนประนมมือร้องไห้ คร่ำครวญอยู่
พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงนางเทวธิดานั้นร้องไห้ จึงทรงแผ่พระรัศมีดุจประทับนั่งตรัสอยู่ในที่หน้านางเทวธิดา ตรัสว่า
“เทวธิดา การทำความสังวร (ในสมณจริยา) เป็นหน้าที่ของกัสสปผู้บุตรของเรา, แต่การกำหนดว่า ‘นี้เป็นประโยชน์ของเรา แล้วมุ่งกระทำแต่บุญ ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ที่ต้องการบุญ, เพราะว่าการทำบุญทำให้เกิดสุขแต่อย่างเดียว ทั้งในภพนี้ ทั้งในภพหน้า” ดังนี้
ในกาลจบเทศนาของพระพุทธองค์ นางเทพธิดานั้น จึงได้บรรลุโสดาปัตติผลพระมหากัสสปกับเด็ก ๕๐๐ คน
วัน หนึ่งพระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวารพร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๕๐๐ คน ยกกระเช้าขนมออกจากเมืองแล้วไปสวนในวันมหรสพวันหนึ่ง เด็กเหล่านั้นก็เพียงแต่ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็หลีกไป,ไม่ปวารณาเพื่อถวาย ขนมแก่ภิกษุแม้สักรูปหนึ่ง
พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักฉันขนมไหม ?”
ภิกษุทูลถามว่า. ขนมที่ไหน ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอทั้งหลายไม่เห็นพวกเด็กถือกระเช้าขนมเดินผ่านไปแล้วดอกหรือ ?
ภิกษุ. พวกเด็กนั้น ไม่ถวายขนมแก่ใครๆ พระเจ้าข้า.
พระ ศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นไม่นิมนต์เราหรือพวกเธอด้วยขนมก็จริง. ถึงกระนั้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนม ก็กำลังมาข้างหลัง ฉันขนมเสียก่อนแล้วไป จึงควร.
ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีความริษยาในบุคคลใด ๆ เลย; เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสคำนี้แล้วจึงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับทั่งใต้ร่มเงาโคนไม้ต้น หนึ่ง.
ต่อมาพวกเด็กเมื่อเห็น พระมหากัสสปเถระ เดินมาข้างหลัง ก็บังเกิดความรักและเลื่อมใสพระมหาเถระขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมจึงวางกระเช้า ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยกขนมพร้อมทั้งกระเช้าถวายแก่พระเถระ
พระ เถระจึงกล่าวแก่เด็กเหล่านั้นว่า “นั่น..พระศาสดาพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งแล้วที่โคนไม้, พวกเธอจงถือไทยธรรมไปแบ่งส่วนถวายภิกษุสงฆ์เถิด พวกเด็กจึงกลับไปพร้อมกับพระเถระ ถวายขนมพระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ แล้วได้ถวายน้ำในเวลาฉันเสร็จ.
ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า “พวกเด็กถวายภิกษาเพราะเห็นแก่หน้าพระมหากัสสปเถระ ในครั้งแรกไม่ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระอื่นทั้งหลายด้วยขนม ต่อเมื่อเห็นพระมหากัสสปเถระแล้ว จึงถือเอาขนมพร้อมด้วยกระเช้านั่นมาถวาย”
พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วจึงตรัสว่า
“ภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับ "มหากัสสป" ผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมทำบูชาด้วยปัจจัย ๔ แก่เธอโดยแท้” ดังนี้
แล้วตรัสพระคาถาแสดงแก่เหล่าเด็กทั้ง ๕๐๐ นั้น ในกาลจบเทศนา เด็กเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ดังนี้อาจามะทายิกาวิมาน
ครั้ง หนึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันจทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีครอบครัวหนึ่งเป็นอหิวาตกโรค คนในครอบครัวนั้นตายกันหมด เหลือหญิงคนหนึ่ง
หญิงนั้น ทิ้งเรือนหนีไป หมดที่พึ่ง ไปเรือนของคนอื่น อาศัยอยู่ด้านหลังเรือนของเขา.พวกผู้คนในเรือนนั้นคิดสงสาร ให้ข้าวต้มข้าวสวยและข้าวตังเป็นต้น ที่เหลือในหม้อข้าวเป็นต้นแก่นาง นางเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยข้าวตังของผู้คน เหล่านั้น.
วันนั้น ท่านพระมหากัสสปะ เข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน เมื่อออกจากนิโรธนั้นแล้ว พิจารณาหาผู้ที่สมควรจะอนุเคราะห์ ได้เห็นหญิงนั้นถึงวาระใกล้ตาย และเห็นกรรมในอดีตของนางจะนำไปสู่นรก แต่ก็ยังเห็นโอกาสที่นางจะได้ทำบุญ ท่านได้พิจารณาว่า เมื่อเราไปยังบ้านนั้น หญิงคนนี้จักถวายข้าวตังที่ตนที่ตนได้มา เพราะบุญนั้นนางจะได้ไปเกิดในเทวโลกชั้น "นิมมานรดี" (สวรรค์ชั้นที่ ๕)
ดัง นั้นในเวลาเช้า ท่านจึงเดินมุ่งหน้าไปยังที่อยู่ของนาง แล้วจึงยืนอยู่ข้างหน้าของหญิงนั้น นางเห็นพระเถระแล้ว คิดว่าพระเถระนี้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ในที่นี้ก็ไม่มีของกิน หรือของเคี้ยว ซึ่งควรที่จะถวายแก่พระเถระนี้ จะมีก็เพียง น้ำข้าวข้าวตังอันจืดเย็นไม่มีรส เต็มไปด้วยหญ้าและผงธุลี ซึ่งอยู่ในภาชนะสกปรกนี้ เราไม่อาจจะถวายแก่พระเถระเช่นนี้ได้
นาง จึงกล่าวว่า ขอท่านจงโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด พระเถระยืนนิ่งไม่ขยับเท้าแม้แต่ข้างเดียว ผู้คนอยู่ในเรือนนำภิกขาเข้าไปถวาย พระเถระก็ไม่รับ
หญิง เข็ญใจนั้น รู้ว่าพระเถระประสงค์จะรับเฉพาะของเรา จึงมาในที่นี้ก็เพื่ออนุเคราะห์เรา เท่านั้น มีใจเลื่อมใส เกิดความเอื้อเฟื้อ ก็เกลี่ยข้าวตังนั้นลงในบาตรของพระเถระ
พระ เถระแสดงอาการว่าจะฉันเพื่อเพิ่มความเลื่อมใสของนางให้มากขึ้น ผู้คนปูอาสนะแล้ว พระเถระก็นั่งบนอาสนะนั้นฉันข้าวตังนั้น ดื่มน้ำแล้วชักมืออกจากบาตร ทำอนุโมทนาแก่หญิงเข็ญใจนั้นแล้วก็ไป.
ในคืนนั้นนางก็สิ้นชีวิต ก็ไปบังเกิดร่วมกับเหล่าเทพในสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้น ดังนี้.
ลูกศิษย์เผากุฏิของพระมหากัสสปเถระ
ในกรุงราชคฤห์ มีพระ ๒ รูป เป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัสสปเถระ ผู้อาศัยอยู่ในถ้ำปิปผลิ. ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกระทำการปฏิบัติต่อท่านพระมหาเถระโดยเคารพ ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นคนมักตู่เอากิจที่พระอีกรูปหนึ่งกระทำเป็นเสมือนหนึ่ง ว่าตนเป็นผู้กระทำเอง
เมื่อภิกษุผู้ปฏิบัติต่อพระเถระ โดยอาการอันเคารพนั้น ตั้งน้ำบ้วนปากเพื่อถวายพระมหาเถระเป็นต้น ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะไปยังสำนักของพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ..น้ำ..กระผมตั้งไว้แล้ว ขอท่านจงล้างหน้าเถิดขอรับ
เมื่อ ภิกษุรูปแรกนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปัดกวาดบริเวณกุฏิไว้แล้ว ในเวลาพระเถระออกมา ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ไปมา ทำทีเสมือนว่าบริเวณนั้นทั้งสิ้นตนเป็นผู้ปัดกวาดไว้ ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงคิดจะทำให้กรรมของพระหัวดื้อนี้ปรากกฎต่อพระเถระ
เมื่อ ภิกษุขี้ตู่นั้นฉันแล้วหลับอยู่นั้น ภิกษุรูปแรกจึงต้มน้ำเพื่อถวายพระเถระสำหรับอาบแล้ว ก็ตักใส่ในหม้อใบหนึ่ง ตั้งไว้หลังซุ้ม แต่เหลือน้ำไว้ในหม้อต้มน้ำประมาณกระบวยหนึ่ง แล้วตั้งไว้ให้เดือดพลุ่งเป็นไออยู่.
กรรมตามทัน
ภิกษุ นี้ตื่นขึ้น เห็นไอพลุ่งออกจากหม้อต้มน้ำ จึงคิดว่า น้ำที่ภิกษุนั้นต้มแล้วคงไว้ในซุ้ม จึงรีบไปเรียนพระเถระว่า “น้ำกระผมตั้งไว้ในซุ้มแล้วขอรับ นิมนต์ท่านสรงเถิด” แล้วเข้าไปในซุ้มพร้อมกับพระเถระ พระเถระเมื่อไม่เห็นน้ำ จึงถามว่า“น้ำอยู่ที่ไหน..คุณ ?”
ภิกษุหนุ่มไปยังโรง ต้มน้ำ จ้วงกระบวยลงในภาชนะที่มีไอน้ำพลุ่งอยู่ เมื่อกระบวยกระทบพื้นภาชนะเปล่าที่ไม่มีน้ำ ก็มีเสียงดังเหมือนเสียงระฆัง ตั้งแต่นั้นมาภิกษุนั้นจึงมีชื่อว่า "อุฬุงกสัททกะ"
พระ ภิกษุนั้นเมื่อพบว่าหม้อน้ำนั้นไม่มีน้ำ จึงโพนทะนาว่า “ขอท่านจงดูกรรมของภิกษุหัวดื้อเธอยกภาชนะเปล่าขึ้นตั้งไว้บนเตา แล้วไปไหนเสีย? กระผมเรียนด้วยเข้าใจว่าน้ำมีอยู่ในซุ้ม” แล้วก็ได้ถือหม้อน้ำไปยังท่าน้ำ.
ฝ่ายภิกษุผู้สมบูรณ์ ด้วยวัตร จึงนำเอาน้ำมาจากหลังซุ้มแล้วตั้งไว้ในซุ้ม. พระเถระเห็นดังนั้นจึงพิจารณาดูก็รู้ว่า “ภิกษุ "อุฬุงกสัททกะ" นั้น ชอบกระทำกิจที่ตนไม่ได้ทำ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้กระทำเอง” ท่านจึงได้ให้โอวาทแก่ "พระอุฬุงกสัททกะ" ผู้มานั่งอุปัฏฐากในเวลาเย็น ถึงความไม่ควรของความประพฤติของภิกษุนั้น
ภิกษุนั้นโกรธ แล้วในวันรุ่งขึ้นจึงไม่เข้าไปบิณฑบาตกับพระเถระ เมื่อพระเถระไปแล้ว ภิกษุนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ เมื่อถูกอุปัฏฐากถามถึงพระเถระ "พระอุฬุงกสัททกะ" จึงบอกว่าพระเถระนั่งอยู่ในวิหาร นั่นแหละ เพราะไม่ผาสุก เมื่อเขากล่าวว่า ได้อะไรจึงจะควรขอรับ จึงกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้ แล้วถือเอาสิ่งที่อุปัฏฐากถวายพระเถระนั้นไปยังที่ชอบใจของตน ฉันแล้วจึงได้ไปยังวิหาร
พระเถระจับความเลวทรามของศิษย์ได้
ใน วันรุ่งขึ้น พระเถระไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น, เมื่อพวกอุปัฏฐากกล่าวว่า “ได้ยินว่า ความไม่ผาสุกเกิดแก่ท่าน’ จึงจัดแจงอาหารส่งไปตามที่ภิกษุหนุ่มแจ้ง ความผาสุกเกิดแก่ท่านแล้วหรือ?” พระเถระได้ฟังก็นิ่งเสีย,
ครั้นเมื่อพระเถระไปสู่วิหาร แล้ว จึงกล่าวกับภิกษุหนุ่มนั้นผู้มาอุปัฏฐากในเวลาเย็น ว่า “การกระทำของเธอเมื่อวานนี้ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย”
ประทุษร้ายแก่ผู้มีคุณตายไปเกิดในอเวจี
ภิกษุ นั้นโกรธแล้วผูกอาฆาตในพระเถระในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเถระเข้าไปสู่บ้าน ส่วนตนพักอยู่ในวิหาร จึงจับท่อนไม้ ทุบวัตถุทั้งหลาย มีภาชนะสำหรับใช้สอยเป็นต้น แล้วจุดไฟที่บรรณศาลาของพระเถระ สิ่งใดไฟไม่ไหม้ก็เอาพลองทุบทำลายสิ่งนั้นแล้วหนีออกไป
พระ อุฬุงกสัททกะนั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเหมือนดังเปรต..ผอมโซ ครั้นตายแล้วก็ได้บังเกิดในอเวจีมหานรก อนาจารกิริยาของภิกษุนั้น ลือกระฉ่อนไปในมหาชน ดังนี้
พระพุทธเจ้าตรัสเล่าบุพพกรรมเดิม
ต่อ มา ภิกษุพวกหนึ่งจากราชคฤห์มาสู่นครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ใครเป็นอาจารย์ให้โอวาทสั่งสอนในที่นั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า..พระมหากัสสป จึงตรัสถามว่า กัสสปสบายดีอยู่หรือ ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องราวทั้งปวงที่เกี่ยวกับ ภิกษุเสียงกระบวยให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า “การเที่ยวไปผู้เดียวของกัสสปประเสริฐว่าการสมาคมด้วยคนพาลเช่นภิกษุนั้น เพระคุณความเป็นสหายไม่มีในคนพาล” ดังนี้แล้วตรัสว่า ภิกษุนั้นทำลายกุฎีในชาตินี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในชาติก่อนก็เคยทำมาแล้วเหมือนกัน
ในอดีตกาล นกขมิ้นตัวหนึ่ง ทำรังอยู่เป็นที่พอใจของตน อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ วันหนึ่งในวัสสานฤดู เมื่อฝนตกหนักมีธารน้ำไม่ขาดสาย วานรตัวหนึ่งถูกความหนาวบีบคั้น นั่งกัดฟันอยู่ นกขมิ้นเห็นดังนั้นจึงทักทายขึ้นว่า
“วานร..ดูศีรษะและมือเท้าของท่านคล้ายมนุษย์ แต่ทำไมหนอท่านจึงไม่มีรังไม่มีเรือนอย่างมนุษย์”
ลิงได้ยินดังนั้น จึงกล่าวตอบไปว่า
“นก ขมิ้นตัวน้อยเอย ศีรษะ มือและเท้าของเรามีอยู่ละม้ายคล้ายของมนุษย์ก็จริงแต่ปัญญาใดอันเป็นสิ่ง ประเสริฐในหมู่มนุษย์ปัญญานั้นของเราไม่มี”
“ผู้มีจิต ไม่มั่นคง ใจเบา มีปรกติประทุษร้ายมิตร มีศีลไม่ยั่งยืนย่อมไม่มีความสะอาด วานรท่านจงละทิ้งปรกติวิสัยเดิมของท่านเสียแล้ว จงสร้างอานุภาพของตนขึ้น ท่านจงสร้างกระท่อมไว้เป็นเครื่องป้องกันลมหนาวเถิด”
วานร คิดว่า นกขมิ้นตัวนี้อวดดีสั่งสอนเรา ดูหมิ่นเราว่าไม่มีที่อยู่ ตัวมันมีรังอยู่ไม่ถูกฝน เราจักทำลายมันและรังมันเสียคิดดังนี้แล้วกระโดดจับนกขมิ้น แต่นกขมิ้นไวกว่าจึงบินไปเสีย ลิงจึงทำลายรังนกขมิ้นเสียสิ้นเชิง
พระศาสดาตรัสสรุปว่า ลิงในครั้งนั้นคือภิกษุผู้เผากุฎีในครั้งนี้ ส่วนนกขมิ้นคือ พระองค์เอง ดังนี้
ข้อสังเกต
๑. คนที่ดีแต่เอาหน้า ไม่ทำความดีจริงและไม่มีดีจริง สักแต่ว่าให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นเช่นนั้น ดีย่อมแตกในไม่ช้า ส่วนคนทำดีจริง มีความดีจริงแม้จะไม่ออกหน้าไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ได้ทำความดีเช่นนั้นๆ แต่คนใกล้ชิดย่อมเห็น และจะมองเขาด้วยความนิยมยกย่อง เกียรติคุณที่เขาได้ย่อมยั่งยืน
ในทางโลก
คน ที่ได้ดี มีตำแหน่งสูงขึ้นเพราะการประจบเจ้านายก็มีเหมือนกัน แต่มักเป็นไปชั่วครู่ชั่วคราว พอเปลี่ยนนาย ฐานะของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่คนได้ดีเพราะการทำงาน เพราะความสามารถของตนเองย่อมได้รับความนิยมยกย่องทุกกาลทุกสมัย แม้ใครไม่เลี้ยงเขา เขาก็มีความสามารถที่จะเลี้ยงตนได้ ทรัพย์ที่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงอันสุจริตนั้น ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่จืดจางง่ายและไม่มีวิปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจเพราะรู้สึกว่าได้ประกอบกรรมชั่ว)
๒. พระมหากัสสป โดยตัวท่านเองท่านเป็นผู้มีความซื่อตรงอย่างยิ่ง และโอวาทศิษย์ให้เป็นซื่อตรง ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้ การพูดเท็จเป็นสิ่งที่สมณะควรเว้นให้ขาด
พระ พุทธเจ้าตรัสว่า “คนที่มีปกติพูดเท็จจะไม่ทำบาปเป็นไม่มี” เพราะฉะนั้น บุคคลควรเป็นผู้ซื่อตรง โดยเฉพาะสมณะยิ่งจำต้องมีความซื่อตรง เว้นความเท็จทั้งปวง ทั้งทางกายและทางวาจา เท็จทางวาจานั้นเข้าใจกันแล้วโดยมาก ส่วนเท็จทางกาย คือการมีกิริยาหลอกลวง
๓. เมื่อภิกษุเสียงกระบวยไปหลอกเอาอาหารของชาวบ้านไปฉันแล้ว วันรุ่งขึ้น ชาวบ้านถามพระมหากัสสปท่านนิ่งเสียไม่ยอมตอบนั้นเป็นความรอบคอบของพระ ผู้ใหญ่ที่ไม่ตำหนิศิษย์ของตนให้ชาวบ้านฟัง ศิษย์ของตนจะชั่วช้าเลวทรามอย่างไรก็ค่อยมาตักเตือนติเตียนกันเฉพาะหน้า
เรื่อง ที่ท่านพระมหากัสสปกระทำนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของพระที่ชอบเล่าเรื่องความเลวของพระด้วยกันให้ชาว บ้านฟัง บางท่านเป็นถึงเจ้าอาวาสแล้ว ยังเที่ยวนำความบกพร่อง ความไม่ดีของพระรูปนั้นรูปนี้ ในวัดของตนไปเล่าให้ชาวบ้านฟังความประสงค์ของท่านก็เพื่อให้ชาวบ้านเห็นความ ดีของตัวท่านเองว่ามิได้เป็นอย่างพระที่ท่านกำลังติเตียนอยู่ แต่ถ้ามองแง่หนึ่งเขาก็จะว่า “สมภารไม่ดี หลวงชีจึงสกปรก” เป็นการประจานตัวเองโดยแท้
๔. ภิกษุเสียงกระบวยเป็นพระพาลโดยแท้ ท่านพระมหากัสสปสอนดีๆ ก็โกรธ ไม่เพียงโกรธอย่างเดียวยังทำลายของ เผากุฏีเสียอีกด้วย อย่างนี้ ถ้าเป็นฆราวาสทะเลาะกับภรรยาก็คงจะต้องทุบถ้วยชามหม้อไหจนหมดแล้วเผาบ้าน ทิ้ง ใช้ไม่ได้เลย ใครไปได้พ่อบ้านอย่างนั้นก็นับว่าเวรมาก
๕. ศีรษะ มือเท้าของลิงคล้ายมนุษย์แต่มันไม่มีปัญญาอย่างมนุษย์ มันจึงทำอะไรไม่ได้อย่างมนุษย์ อย่ากล่าวถึงลิงกับคนเลย แม้คนด้วยกัน มีอวัยวะเหมือนกันทุกอย่างก็ยังมีปัญญาที่แตกต่างกันมากท่านว่า ร่างกายมือเท้าแม้เหมือนกัน แต่ถ้าระดับปัญญาต่างกันมาก ฐานะของคนก็ย่อมจะแตกต่างกัน ช้างมีกำลังหลายเท่าของมนุษย์แต่มันก็ทำได้เพียงลากซุงที่มนุษย์จัดแจงให้ มันลากไป คนที่กำลังกายมาก จึงสู้คนมีกำลังปัญญามากไม่ได้คนมีกำลังกายมากย่อมต้องยอมเป็นลูกน้องของผู้ มีกำลังปัญญาด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า
“ปญฺา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ
ปัญญาแลท่านผู้ฉลาดกว่าวว่าประเสริฐที่สุด
นกฺขตฺตราชารวิ ตารกานํ
เหมือนดวงจันทร์เป็นราชาแห่งหมู่ดาว
สีลํ สิริญฺจาปิ สตญฺจ ธมฺโม
ศีล สิริ และธรรมของสัตบุรุษ
อนฺวายิกา ปญฺวโต ภวนฺติ
ย่อมตามหลังผู้มีปัญญา”
คราวหนึ่ง มีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า บัณฑิตเรียกผู้มีชีวิตอย่างไรว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ พระองค์ตรัสตอบว่า “ปัญญาชีวึ ชีวิตะมาหุ เสฎฺฐัง บัณฑิตเรียกผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐที่สุด” การขอโทษและให้อภัย
กุลบุตร ผู้หนึ่ง มีศรัทธาในศาสนาของพระศาสดาออกบวชไม่นานนักได้บรรลุพระอรหัตตผล ต่อมาโยมมารดาของท่านถึงแก่กรรมลง ท่านจึงชวนโยมบิดาและน้องชายให้บวชอยู่เชตวันวิหาร
เมื่อ จวนเข้าพรรษา ท่านทั้งสามรูป คือภิกษุหนุ่ม ภิกษุชรา ผู้เป็นบิดา และสามเณรน้องชายของภิกษุหนุ่ม ทราบว่า วัดในชนบทแห่งหนึ่ง (คามกาวาส) มีจีวรและปัจจัยอื่นๆ อุดมสมบูรณ์ หาได้ง่าย จึงพากันไปจำพรรษาในอาวาสนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วพากันกลับมาสู่เชตวันวิหาร
เมื่อจวนถึง เชตวันวิหาร ภิกษุหนุ่มได้สั่งสามเณรน้องชายว่า “ขอให้ท่านบิดาพักผ่อนเสียก่อน ส่วนฉันจะล่วงหน้าไปจัดแจงเสนาสนะ กวาดบริเวณก่อน”
พระเถระผู้เฒ่าจึงค่อยๆ เดินไปช้าๆ ส่วนสามเณรลูกชายใจร้อน จึงเอาหัวดุนหลังท่านบิดาอยู่เรื่อย เพื่อให้ถึงวัดเร็วๆ ท่านบิดาเห็นสามเณรทำอย่างนั้น ไม่พอใจกล่าวว่า “เธอมีหน้าที่จะต้องพาฉันไป” ดังนี้แล้วเดินกลับไปตั้งต้นใหม่ สามเณรก็ไปเอาหัวดุนหลังมาอีก เมื่อมาได้หน่อยหนึ่งท่านก็กลับไปตั้งต้นใหม่อีก ทำอยู่อย่างนี้จนมืดค่ำ
ฝ่าย ภิกษุหนุ่ม ไปปัดกวาดเสนาสนะตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้เรียบร้อยแล้ว คอยการมาของท่านบิดาและสามเณรน้องชายอยู่ เมื่อไม่เห็นมา จึงจุดคบเพลิงออกไปตาม พบท่านทั้งสองเดินทะเลาะกันอยู่ จึงให้ท่านบิดาพักอยู่หน่อยหนึ่งแล้วค่อยๆ นำมา วันนั้นไม่ได้โอกาสเข้าเฝ้าพระศาสดา คือเข้าเฝ้าไม่ทันวันรุ่งขึ้นจึงได้เข้าเฝ้า
พระศาสดาตรัสถามว่า “มาถึงเมื่อไร ?”
“มาถึงเมื่อวานพระเจ้าข้า” ภิกษุหนุ่มทูลตอบ
“ทำไมจึงเพิ่งมาหาเราวันนี้ ?”
ภิกษุ หนุ่มได้ทูลเล่าเรื่องที่ชักช้าอยู่ทั้งปวงถวาย พระศาสดาทรงทราบแล้ว ทรงติเตียนภิกษุแก่นั้นว่า ภิกษุแก่นี้ในชาตินี้ทำให้เธอลำบาก แต่ในชาติก่อนได้ทำให้บัณฑิตลำบาก เมื่อภิกษุหนุ่มทูลถามถึงเรื่องเก่า จึงตรัสเล่าว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกาสิกนคร เมื่อมารดาทำกาลกิริยา (ถึงแก่กรรม) แล้วทำการปลงศพมารดาเสร็จแล้ว เอาทรัพย์สมบัติออกบริจาคทานอยู่ถึง ๑๕ วัน จึงเสร็จสิ้น พาบิดาและน้องชายออกไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในหิมวันตประเทศ เลี้ยงชีพด้วยมูลผลาผล (คือรากไม้และผลไม้) อยู่ในไพรสนฑ์อันเป็นรมณียสถาน
ธรรมดา ในหิมวันตประเทศนั้น ในฤดูฝน เมื่อฝนตกชุก พวกฤษีไม่สามารถขุดเง่ามันได้ ผลาผลและใบไม้ก็ร่วงหล่นเสียหายมาก พวกดาบสจึงพากันออกจากป่าหิมพานต์ไปอยู่แดนของมนุษย์
ใน กาลนั้น ดาบสโพธิสัตว์ก็พาบิดาและน้องชายไปอยู่ในแดนของมนุษย์เหมือนกันเมื่อพ้นฤดู ฝนแล้ว ต้นไม้ในหิมวันตประเทศผลิดอกออกผลใหม่ จึงพาบิดาและน้องกลับมายังป่านั้นอีก เมื่อจวนจะถึงอาศรมบท พระโพธิสัตว์จึงขอให้ดาบสน้องชายค่อยๆ พาบิดาผู้ชรามา ส่วนตนล่วงหน้าไปก่อน เพื่อจัดแจงปัดกวาดเสนาสนะ และตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้
ดาบส น้อย ผู้เป็นน้องชาย เอาหัวดันหลังดาบสผู้บิดาให้รีบเดินมา ส่วนบิดาไม่พอใจ จึงกลับไปต้นทางเดินมาใหม่ (เรื่องทำนองเดียวกับภิกษุแก่และสามเณรน้อยดังที่กล่าวมาแล้ว)
จน มืดค่ำพระโพธิสัตว์ทำกิจต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วไม่เห็นบิดาและน้องชายมา จึงถือคบเพลิงเดินสวนทางไปพบท่านบิดาและดาบสน้องชาย จึงถามว่า ทำไมจึงชักช้าอยู่ดาบสผู้บิดจึงเล่าให้ฟัง
ดาบสโพธิสัตว์ ทราบเรื่องแล้วไม่พูดอะไร รีบพาท่านบิดาและน้องชายไปยังอาศรมบท ให้เก็บงำเครื่องบริขารแล้วให้บิดาอาบน้ำ ทาน้ำมัน นวดหลังเสร็จแล้ว ให้ผิงไฟเมื่อทราบว่าท่านบิดาระงับความอิดโรยแล้วจึงเข้าไปนั่งใกล้และกล่าว ว่า
“ข้าแต่ท่านบิดา เด็กหนุ่มเป็นเช่นภาชนะดิน แตกง่าย ประสานยาก ครู่เดียวก็แตก เมื่อแตกแล้วก็ประสานไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กด่าอยู่ บริภาษอยู่ ผู้ใหญ่จึงควรอดทน เด็กเป็นผู้อ่อนปัญญา บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมทนได้และให้อภัยในความผิดนั้น
อนึ่ง สัตบุรุษ แม้จะทะเลาะกันก็กลับคืนดีกันได้ง่าย ส่วนพาลชน เมื่อแตกแล้วย่อมเป็นเหมือนภาชนะดิน ไม่สงบได้เลย ผู้ใดรู้จักโทษของตน และรู้จักขออภัยในโทษล่วงเกิน ผู้นั้นย่อมสมัครสมานพร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขาย่อมไม่เปลี่ยนแปลง อนึ่ง ผู้ใดเมื่อผู้อื่นล่วงเกินแล้ว ตนเองมีใจเอื้อเฟื้อพร้อมที่จะสมัครสมาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้นำภาระไปเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธุระเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง
รวมความว่า ดาบสโพธิสัตว์เตือนทั้งพ่อและสอนทั้งน้องเพื่อให้ท่านทั้งสองได้กลมเกลียวสามัคคีกัน
ข้อสังเกต
เรื่อง นี้มีคติหลายอย่าง โดยเฉพาะเป็นการสอนผู้หลักผู้ใหญ่ ให้มีความอดทนต่อความอ่อนความคิดของผู้น้อย รู้จักอดทนและให้อภัย เมื่อเด็กโกรธ ถ้าผู้ใหญ่ไม่โกรธด้วย เจอที่ไหนทักทายปราศรัยด้วยดี เด็กก็คงโกรธไปได้ไม่นาน ไม่เท่าไหร่ก็คงเคารพกราบไหว้อย่างเดิม
ท่าน สอนว่า วิธีที่จะไม่ให้ทะเลาะกับใครนั้นคือคิดว่า เมื่อเขาเด็กกว่าก็ให้อภัยในฐานะที่เขาเป็นเด็ก เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ยกให้เสียว่า ท่านแก่แล้ว ส่วนคนเสมอกันก็นึกว่าเขาคงไม่แกล้ง ไม่เจตนา หรือเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เกี่ยว กับการอดโทษและการให้อภัยนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า คนที่ล่วงเกินเขาแล้วไม่ขอโทษ และคนที่เขาขอโทษแล้ว ไม่ยอมให้อภัย จัดว่าเป็นพาลเสมอกันทั้งสองพวก
ในทางพระวินัย ทรงปรับอาบัติทั้งสองพวก คือทั้งพวกที่ล่วงเกินเขาแล้วไม่ขอโทษและพวกที่เขาขอโทษแล้วไม่ยอมให้อภัย การรู้โทษแล้วขอโทษ และการให้อภัยจึงเป็นจุดสำคัญในความสามัคคีและความรักอันไม่จืดจาง
ที่มา : หนังสือ เพียรพายสำเภาแก้ว เผยแพร่โดย วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหารพระมหากัสสปกล่าวตักเตือนพระอานนท์
[๕๑๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสป อยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ก็ โดยสมัยนี้แล ภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของท่านประมาณ ๓๐ รูป โดยมากยังเป็นเด็กหนุ่ม พากันลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นหินเพศ ฯ (หินเพศ เป็นเพศที่ตำทราม ท่านหมายถึงจะสึกกลับไปเป็นเป็น "ฆราวาส" อีกนั่นเอง)
[๕๑๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวจาริกไปตามชอบใจในทักขิณาคิรีชนบท แล้วกลับไปสู่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่
ครั้นเข้าไปหาแล้ว อภิวาทมหากัสสปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวปราศรัยกะท่านพระอานนท์ว่า
อาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไรหนอ จึงทรงบัญญัติ การขบฉันถึง ๓ หมวด ในตระกูลเข้าไว้ ฯ
[๕๒๐] ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านกัสสปผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อ จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้
คือเพื่อข่มคนหน้าด้าน เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่เป็นสุข และเพื่ออนุเคราะห์ตระกูล โดยเหตุที่พวกมีความปรารถนาลามก อาศัยสมัครพรรคพวกแล้วจะพึงทำสงฆ์ให้แตกกันไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๓ ข้อเหล่านี้แล จึงได้ทรงบัญญัติการขบฉันถึง ๓ หมวดในตระกูลเข้าไว้ ฯ
[๕๒๑] ก. อาวุโสอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเที่ยวไปกับภิกษุเหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร เพื่อประโยชน์อะไรเล่า
เธอมัวแต่ จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อาวุโสอานนท์ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ ฯ
อ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บนศีรษะของกระผม ผมหงอกแล้วมิใช่หรือ ถึงอย่างนั้น พวกกระผมก็ยังไม่พ้นจากท่านพระมหากัสสปว่าเป็นเด็ก ฯ
ก. ก็เป็นจริงอย่างนั้น อาวุโสอานนท์ เธอยังไปเที่ยวกับภิกษุใหม่ๆ เหล่านี้ ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร
เธอมัวแต่จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้า มัวแต่จาริกไปเบียดเบียนตระกูล อาวุโสอานนท์ บริษัทของเธอย่อมลุ่ยหลุดไป สัทธิวิหาริกของเธอซึ่งโดยมากเป็นผู้ใหม่ ย่อมแตกกระจายไป เธอนี้ยังเป็นเด็ก ไม่รู้จักประมาณ ฯ
(หมาย เหตุ : ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากัสสปกับพระอานนท์นั้น ความจริงท่านสนิทสนมกัน ด้วยพระมหากัสสปท่านรักและเอ็นดูพระอานนท์ จึงเห็นพระอานนท์เป็นเด็กอยู่เสมอ ส่วนพระอานนท์ก็เคารพพระมหากัสสปเช่นกัน แต่ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ จึงมีเรื่องเกิดขึ้นจนได้ เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้เป็นอย่างดี)
ภิกษุณีถุลลนันทากล่าวปรามาสพระมหากัสสป
[๕๒๒] ภิกษุณีถุลลนันทา ได้ ยินแล้วคิดว่า ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ถูกพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปรุกรานด้วยวาทะว่า "เป็นเด็ก" ไม่พอใจ จึงเปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจว่า
อะไรเล่า..พระผู้เป็น เจ้ามหากัสสป ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ จึงสำคัญพระคุณเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ ว่าตนควรรุกรานด้วยวาทะว่าเป็นเด็ก ท่านพระมหากัสสปได้ยินภิกษุณีถุลลนันทากล่าววาจานี้แล้ว ฯ
พระมหาเถระจำเป็นต้องประกาศคุณธรรมของตนเอง
[๕๒๓] ครั้งนั้นแล ท่านมหากัสสปจึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อาวุโสอานนท์ ภิกษุณีถุลลนันทายังไม่ทันพิจารณา ก็กล่าววาจาพล่อยๆ เพราะเราเองปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่นึกเลยว่าเราบวชอุทิศศาสดาอื่น นอกจากพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้ง ก่อน เมื่อเรายังเป็นคฤหัสถ์เคยคิดว่า ฆราวาสช่างคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ประดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ทางที่ดี เราควรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
สมัย ต่อมา เราทำผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่า ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อุทิศเฉพาะท่านผู้เป็นพระอรหันต์ในโลก เมื่อบวชแล้วยังเดินไปสิ้นระยะทางไกล ได้พบพระผู้มีพระภาคระหว่างเมืองราชคฤห์กับบ้านนาฬันทคาม กำลังประทับนั่งอยู่ ณ พหุปุตตเจดีย์
พอพบเข้าแล้วก็ รำพึงอยู่ว่า เราพบพระศาสดา ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย เราพบพระสุคต ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย เราพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นอันพบพระผู้มีพระภาคด้วย
อาวุโส..เรานั้นจึงซบเศียรเกล้าลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นเอง ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคว่า
ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้ ฯ
[๕๒๔] เมื่อเรากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเราว่า ดูกรกัสสป ผู้ใดเล่ายังไม่ทราบชัดถึงสาวกผู้ประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด อย่างนี้แล้วจะพึงพูดว่ารู้ ยังไม่เห็นเลยจะพึงพูดว่าเห็นศีรษะของบุคคลนั้นพึงแตก
ดูกรกัสสป แต่เรารู้อยู่ จึงพูดว่ารู้ เห็นอยู่ จึงพูดว่าเห็น เพราะเหตุนั้นแหละกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เราจักเข้าไปตั้งหิริโอตตัปปะอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ผู้นวกะ ผู้มัชฌิมะ ...
เรา จักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล จักกระทำธรรมนั้นทั้งหมดให้เกิดประโยชน์ ใส่ใจถึงธรรมนั้นทั้งหมด จักประมวลมาด้วยจิตทั้งหมด เงี่ยโสตสดับพระธรรม
เราจักไม่ละกายคตาสติที่สหรคตด้วยกุศลความสำราญ ดูกรกัสสป เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเราด้วยพระโอวาทนี้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วทรงหลีกไป ดูกรอาวุโส เราเป็นหนี้ บริโภคก้อนข้าวของราษฎรถึงหนึ่งสัปดาห์ วันที่ ๘ พระอรหันตผลจึงปรากฏขึ้น
คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จ หลีกจากหนทางตรงไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เราจึงเอาผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าปูเป็นสี่ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน
ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคก็ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย ครั้นประทับนั่งแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเราว่า กัสสป..ผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของเธอผืนนี้อ่อนนุ่ม เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์ทรงรับผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าของข้า พระองค์เถิด
พระองค์ตรัสว่า ดูกรกัสสป เธอจักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่หรือ เราก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักครองผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ฯ
[๕๒๕] ดูกรอาวุโส เราได้มอบถวายผ้าสังฆาฏิแห่งผ้าที่เก่าแด่พระผู้มีพระภาค และได้รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ของพระผู้มีพระภาค ดูกรอาวุโส ก็เมื่อบุคคลจะพูดให้ถูก พึงพูดถึงผู้ใดว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท จึงรับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่
เขา เมื่อจะพูดให้ถูก พึงพูดถึง ผู้นั้นคือเราว่า บุตรผู้เกิดแต่อก เกิดแต่พระโอฐ ของพระผู้มีพระภาค เกิดแต่พระธรรม อันธรรมนิรมิตแล้ว เป็นธรรมทายาท รับผ้าบังสุกุลที่ทำด้วยผ้าป่านซึ่งยังใหม่ ฯ
[๕๒๖] ดูกรอาวุโส เราหวังสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม แล้วเข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรอาวุโสเราหวัง ฯลฯ[อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ และอภิญญา ๙ มีเปยยาลอย่างนี้]
[๕๒๗] ดูกรอาวุโส เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองในทิฏฐธรรม เข้าถึงอยู่ ผู้ใดสำคัญเราว่า ควรปกปิดด้วยอภิญญา ๖ ผู้นั้นก็ควรสำคัญช้าง ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งว่า จะพึงปกปิดด้วยใบตาลได้ ฯ
ก็และภิกษุณีถุลลนันทาเคลื่อนจากพรหมจรรย์เสียแล้ว ฯ
ที่มา - พระไตรปิฎกเล่มที่ 16 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 8 สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ จีวรสูตร พระมหากัสสปเถระถูกกล่าวโทษ
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุยยุญชันติ" เป็นต้น.
ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าผู้จะเสด็จจาริก
ความ พิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ รับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า " โดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน เราจักหลีกไปสู่ที่จาริก."
ได้ยินว่า การรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "บัดนี้เราจักหลีกไปสู่ที่จาริกโดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน" ดังนี้ ด้วยทรงประสงค์ว่า "ภิกษุทั้งหลายจักทำกิจต่าง ๆ มีการระบมบาตรและย้อมจีวรเป็นต้นของตนแล้ว จักไปตามสบาย ด้วยอาการอย่างนี้ " นี้เป็นธรรมเนียนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีพระประสงค์จะเสด็จจาริกไปกับพวกภิกษุ. ก็เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำกิจต่าง ๆ มีการระบมบาตรเป็นต้นของตนอยู่. แม้พระมหากัสสปเถระ ก็ชักจีวรทั้งหลายแล้ว.
พวกภิกษุ (กล่าวหา) ว่าพระเถระละญาติและอุปัฏฐากไปไม่ได้
พวก ภิกษุยกโทษว่า "เพราะเหตุไร พระเถระจึงชักจีวร ? ในพระนครนี้ ทั้งภายในและภายนอก มีมนุษย์อาศัยอยู่ ๑๘ โกฏิ: บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดไม่เป็นญาติของพระเถระ, พวกนั้นเป็นอุปัฏฐาก, พวกใดไม่เป็นอุปัฏฐาก, พวกนั้นเป็นญาติ; ชนเหล่านั้นย่อมทำความนับถือ ( และ ) สักการะแก่พระเถระด้วยปัจจัย ๔; พระเถระนั้น จักละอุปการะมีประมาณเท่านั้นไป ณ ที่ไหนได้; แม้หากพึงไปได้ ก็จักไม่ไป เลยจากซอกชื่อ "มาปมาทะ".
ดังได้สดับมา พระศาสดาเสด็จถึงซอกใดแล้ว ย่อมตรัสบอกภิกษุทั้งหลาย ผู้ควรที่พระองค์พึงให้กลับอีกว่า " เธอทั้งหลายจงกลับเสียแต่ที่นี้, อย่าประมาท," ซอกนั้นชาวโลกเรียกว่า "ซอกมาปมาทะ," คำนั่นภิกษุทั้งหลายกล่าวหมายเอาซอกมาปมาทะนั้น.
รับสั่งให้พระมหากัสสปกลับ
แม้ พระศาสดาเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกพลางดำริว่า " ในนครนี้ทั้งภายใน ทั้งภายนอก มีมนุษย์อยู่ ๑๘ โกฏิ. อันภิกษุจะต้องไปในที่ทำการมงคลและอวมงคลของมนุษย์ทั้งหลายมีอยู่, เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้เราจักให้ใครหนอแลกลับ."
ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า "ก็พวกมนุษย์เหล่านั้น เป็นทั้งญาติเป็นทั้งอุปัฏฐากของกัสสป, เราควรให้กัสสปกลับ."
พระองค์ ตรัสกะพระเถระว่า " กัสสป เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้, ความต้องการด้วยภิกษุ ในที่ทำมงคลและอวมงคลทั้งหลาย ของพวกมนุษย์มีอยู่, เธอกับบริษัทของตน จงกลับเถิด." พระเถระทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" แล้วพาบริษัทกลับ.
ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า " ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหมละ, พวกเราพูดประเดี๋ยวนี้เองมิใช่หรือ ? คำที่พวกเราพูดว่า 'เพราะเหตุไร พระมหากสัสปจึงชักจีวร ? ท่านจักไม่ไปกับพระศาสดา,' ดังนี้นั่นแลเกิด เป็นจริง แล้ว."
ทรงชี้แจงเหตุที่พระมหากัสสปกลับ
พระ ศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายแล้วเสด็จกลับประทับยืน ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวชื่ออะไรกันนั่น ?" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "พวกข้าพระองค์ กล่าวปรารภพระมหากัสสปเถระ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตามแนวความที่ตนกล่าวแล้วนั่นแล.
พระ ศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าว (หา) กัสสปว่า ข้องแล้วในตระกูลและในปัจจัยทั้งหลาย,' (แต่ความจริง) เธอกลับแล้ว ด้วยทำในใจว่า 'เราจักทำตามคำของเรา (ตถาคต).' ก็กัสสปนั่น แม้ในกาลก่อน เมื่อจะทำความปรารถนานั่นแล ก็ได้ทำความปรารถนาว่า
'เรา พึงเป็นผู้ไม่ข้องในปัจจัย ๔ มีอุปมาดังพระจันทร์ สามารถเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายได้,' กัสสปนั่น ไม่มีความข้องในตระกูลหรือในปัจจัยทั้งหลาย; เราเมื่อจะกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ ก็กล่าวอ้างกัสสปให้ เป็นต้น."
พระศาสดาตรัสถึงการตั้งความปรารถนาเดิมของพระเถระ
ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า "ก็พระเถระตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร ? พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. พวกเธอประสงค์จะฟังหรือ ? ภิกษุทั้งหลาย.
พวกภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก" ดังนี้แล้ว ตรัสความประพฤติในกาลก่อนของพระเถระทั้งหมด ตั้งต้นแต่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "ปทุมุตตระ"
ความตั้งปรารถนาเดิมนั้น "พระธรรมสังคาหกาจารย์" ให้พิสดารแล้ว ในพระบาลีอันแสดงประวัติของพระเถระนั่นแล.
ตรัสเปรียบพระเถระด้วยพระยาหงส์
ก็พระศาสดาครั้นตรัสบุรพจริตของพระเถระนี้ให้พิสดารแล้ว จึงตรัสว่า
"ภิกษุ ทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น.
ชื่อ ว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา. บุตรของเราไม่ข้องในอะไร ๆ เลย เหมือนพระยาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไปฉะนั้น" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรมจึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
อุยยุญชันติ สะตีมันโต นะ นิเกเต ระมันติ เต หังสาวะ ปัลละลัง หิตฺวา โอกะโมกัง ชะหันติ เต.
"ท่านผู้มีสติย่อมออก. ท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่; ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนฝูงหงส์ ละเปือกตมไปฉะนั้น."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อุยยุญชันติ สะตีมันโต ความ ว่า ท่านผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ คือว่าท่านผู้มีอาสวะสิ้นแล้วย่อมขวนขวาย ร่ำอยู่ในคุณอันตนแทงตลอดแล้ว มีฌานและวิปัสสนาเป็นต้น
ด้วยนึกถึง ด้วยเข้าสมาบัติ ด้วยออกจากสมาบัติ ด้วยตั้งใจอยู่ในสมาบัติ และด้วยพิจารณาถึงบาทพระคาถาว่า นะ นิเกเค ระมันติ เต คือชื่อว่าความยินดีในที่ห่วงของท่าน ย่อมไม่มี.
บทว่า หังสาวะ นี้ เป็นแง่แห่งเทศนา. ก็นี้ความอธิบายในคำนี้ว่า :- ฝูงนกถือเอาเหยื่อของตน ในเปือกตมอันบริบูรณ์ด้วยเหยื่อแล้ว ในเวลาไป ไม่ทำความห่วงสักหน่อยในที่นั้นว่า "น้ำของเรา, ดอกปทุมของเรา, ดอกอุบลของเรา, ดอกบุณฑริกของเรา. หญ้าของเรา" หาความเสียดายมิได้เทียว ละประเทศนั้น บินเล่นไปในอากาศ ฉันใด :
พระขีณาสพทั้ง หลายนั่น ก็ฉันนั้นแล แม้อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ข้องแล้วในสกุลเป็นต้นเทียวอยู่ แม้ในคราวไป ละที่นั้นไปอยู่ หาความห่วงหาความเสียดายว่า " วิหารของเรา, บริเวณของเรา, อุปัฏฐากของเรา" มิได้เทียว ไปอยู่.
บทว่า โอกโมกัง คือ อาลัย, ความว่า ละความห่วงทั้งปวงเสีย. ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
ที่มา - เว็บ //th.wikisource.org/wiki/
No comments:
Post a Comment