9/09/2009

999..สิริมงคลล้นเหลือ"ไหว้พระ9วัด9พระธาตุ9พระพุทธบาท"

9 สิริมงคลล้นเหลือ "ไหว้พระ 9 วัด 9 พระธาตุ 9 พระพุทธบาท"

พระพุทธไสยาส วัดโพธิ์ ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ
ฉันนี่ช่างโชคดีเสียจริงที่คอลัมน์ "ลุยกรุง" เวียนมาตรงกับ "วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009" ตามกระแสเลข 9 เลขสวยเลขดีตามความเชื่อของคนไทย จนเกิดกระแสความเชื่อทางโหราศาสตร์ "09-09-09" ถือเป็นวันดีแห่งปี ทำให้บรรดาเจ้าของกิจการ ธุรกิจร้านรวง ถือเป็นฤกษ์ดีเปิดกิจการ ขยายสาขากันยกใหญ่ ฉันเองก็ไม่พลาดแม้จะไม่ได้ร่ำรวยขนาดจะเปิดกิจการงานสร้างอะไรแต่ก็ขอเกาะ กระแสเลข 9 กับเขาด้วยเหมือนกัน

โดยในวันฤกษ์ดีนี้ฉันจะขอรวมเส้นทาง "ไหว้พระ 9 วัด 9 พระธาตุ 9 พระพุทธบาท" ให้ได้เสริมบุญบารมีกันถ้วนหน้า ตามกระแสเลข 9 มาทัศนากันเลย

ภายในพระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ วัดมหาธาตุ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
"สักการะ 9 พระธาตุ"

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการได้กราบสักการะ "พระบรมสารีริกธาตุ" หรือ "พระบรมธาตุ" หรือ "พระธาตุ" อันเป็นพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าเป็นดั่งบุญบารมีอันสูงส่ง ยิ่งบวกกับเลข 9 เลขดีมีชัยแล้วก็ยิ่งถือเป็นมงคลสูงล้นสำหรับคนไทย โดยวัดแรกที่ฉันขอแนะนำคือ "วัดพระแก้ว" หรือ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" ภายในวัดมีพระศรีรัตนเจดีย์ ที่ตั้งอยู่บนฐานไพทีใกล้กับปราสาทพระเทพบิดร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงได้มาจากลังกา

ใกล้ๆกับวัดพระแก้วคือ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"หรือ"วัดโพธิ์" ภายในตรงมุมพระวิหารคดทั้ง 4 ด้านมีพระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายในเจดีย์นี้เองเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุไว้ทุกองค์ ด้วย

ต่อมาที่ "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์" หรือ "วัดมหาธาตุ"มี พระมณฑปด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน เจดีย์นี้ถือเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 1 และถือเป็นแบบฉบับของเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ยุคแรกอีกด้วย

มาถึง "วัดบวรนิเวศวิหาร" หรือ "วัดบวร" ภายในมีเจดีย์องค์ใหญ่สีทองอร่ามสวยงามสุกใสที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในคูหากลางองค์เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทองซึ่งบรรจุพระบรม สารีริกธาตุอยู่ภายใน

ด้านบนของภูเขาทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ถือว่าอยู่สูงที่สุดในประเทศ
"วัดมหรรณพาราม" หากเดินเข้ามาภายในวัดด้านหลังพระอุโบสถ จะเห็นเจดีย์ทององค์ใหญ่ที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างขึ้น บนยอดเจดีย์นั้นเองเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ถัดไปที่ "วัดราชนัดดา" อันมีจุดเด่นเป็นสง่าคือ โลหะปราสาท องค์เดียวในไทยและเป็นองค์ที่ 3 ของโลก หากเดินขึ้นไปบนชั้นบนสุดก็สามารถไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุกันได้

จากโลหะปราสาทข้ามถนนมายัง ภูเขาทอง "วัดสระเกศ" ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ด้านบนเช่นกัน โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่สูงที่สุดในเมืองกรุงด้วย โดยได้มาจากอินเดีย และรัชกาลที่ 5 จึงทรงนำมาบรรจุไว้ที่ภูเขาทองแห่งนี้

มาต่อกันที่ "วัดโสมนัสราชวรวิหาร" โดยที่ด้านหลังพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับมาจากอินเดีย ต่อมาทางวัดก็ได้อันเชิญพระบรมธาตุอื่นๆขึ้นไปบรรจุไว้ที่เดียวกัน

รอยพระพุทธบาทจำลอง หลังพระอุโบสถวัดชนะสงคราม
และสำหรับวัดสุดท้าย "วัดประยูรวงศาวาส" ฝั่งธนฯ ที่วัดนี้มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน 3 องค์ด้วย โดย 2 องค์เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พบโดยบังเอิญเมื่อครั้งกรุแตก อีกหนึ่งองค์เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากศรีลังกา

"บูชา 9 พระพุทธบาท"

สำหรับ "รอยพระพุทธบาท" หรือรอยเท้าของพระพุทธเจ้า เป็นดังสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์มงคลที่พระพุทธองค์ ได้เสด็จดำเนินไปถึง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะเสด็จดำเนินไปประทับรอยพระพุทธบาทไว้ทุกแห่ง หน จึงมีการสร้างพระพุทธบาทจำลองขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชากันอย่าง ถ้วนหน้า ในกรุงเทพฯก็มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่ฉันจะขอยกมา 9 แห่งเพื่อให้สอดรับกับเลขมงคล

เริ่มกันที่ "วัดอินทรวิหาร" ย่านบางขุนพรหม เมื่อเข้าไปในวัดจะเจอกับหลวงพ่อโตองค์ใหญ่เป็นสง่า ด้านหลังมีมณฑปรอยพระพุทธบาทสีขาวสะอาดตา ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินอ่อนสวยงาม

ถัดมาได้แก่ "วัดชนะสงคราม" มีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ใกล้ๆกันคือ "วัดบวรนิเวศวิหาร" บริเวณด้านข้างของพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของศาลาพระพุทธบาท ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทคู่อีกด้วย

รอยพระพุทธบาทจำลองวัดสามปลื้ม ประดิษฐานอยู่ในมณฑปพระพุทธบาทข้างสระจระเข้
ต่อไปเป็น "วัดสามปลื้ม" หรือ "วัดจักรวรรดิราชาวาส" วัดที่ได้ชื่อโจษขานเรื่องจระเข้วัดสามปลื้ม ซึ่งด้านข้างของสระจระเข้ที่นอนอ้างปากตากลมนั้นมีบันไดขึ้นไปยังมณฑปพระ พุทธบาทอันสวยงาม ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่มีลักษณะลึกกว่าที่วัดอื่น

อีกหนึ่งวัดใกล้กับเสาชิงช้า ได้แก่ "วัดสุทัศนเทพวราราม" ซึ่งหากใครจะไปกราบไหว้พระพุทธตรีโลกเชษฐ์พระประธานในพระอุโบสถจะต้องเห็น รอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่หน้าประตูทางเข้าภายในพระอุโบสถเป็นแน่แท้

ด้าน "วัดโพธิ์" ก็มีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่เช่นกัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างถวายไว้ ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ซึ่งด้านหน้ามียักษ์ตนเล็ก 2 ตนเฝ้าอยู่ในตู้กระจก

รอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่หน้าทางเข้าพระอุโบสถวัดสุทัศน์
จากวัดโพธิ์ข้ามฝั่งเจ้าพระยาไปยัง "วัดอรุณฯ" ซึ่งเป็นอีกวัดหนึ่งที่มี รอยพระพุทธบาทใน มณฑปพระพุทธบาท ตั้งอยู่ระหว่างเจดีย์ 4 องค์และพระวิหารใหญ่

ต่อด้วย "วัดอมรินทราราม" ตั้งอยู่ใกล้กับ ร.พ.ศิริราช ซึ่งมณฑปของรอยพระพุทธบาทจำลองนี้จัดว่าสวยงามแห่งหนึ่งเลยทีเดียวแม้ ปัจจุบันจะทรุดโทรมไปตามกาลเวลาก็ตาม และแห่งสุดท้ายแห่งที่ 9 ได้แก่ "วัดพิชัยญาติการาม" เมื่อเข้าไปในวัดจะเห็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสูงดูโดดเด่น ใกล้กันเป็นพระปรางค์องค์เล็ก 2 องค์ องค์ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย ทางทิศตะวันตกประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในตู้กระจกถึง 4 รอยด้วยกัน ซึ่งทั้ง 4 รอยน่าจะแทนพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ, พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ, พระพุทธเจ้ากัสสปะ และพระพุทธเจ้าโคตรมะ

วัดพระแก้ววิจิตรงดงามคู่กรุงรัตนโกสินทร์
"ไหว้พระ 9 วัด"

สำหรับการไหว้พระ 9 วัดนั้น เพื่อให้เป็นการง่ายต่อการเดินทางฉันจึงเลือกวัดในเกาะรัตนโกสินทร์ โดยวัดแรกได้แก่ "วัดพระแก้ว" วัดในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระแก้วมรกต, จิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง ซึ่งเป็นเรื่องราวเรื่องรามเกียรติ์ จำนวน 178 ห้อง เรียงตลอด 4 ทิศ, ปราสาทพระเทพบิดร ปราสาทเพียงองค์เดียวในวัด เป็นปราสาทจัตุรมุข ยอดปรางค์มีนภศูล และมงกุฎอยู่บนยอด ประดับกระเบื้องเคลือบองค์เดียวในประเทศไทย เป็นต้น

ใกล้กับวัดพระแก้วก็คือ "วัดโพธิ์" อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 วัดนี้ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศ คือประมาณ 99 องค์ ที่เด่นก็คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล, วิหารพระพุทธไสยาส ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ, รูปปั้นฤๅษีดัดตน, ยักษ์วัดโพธิ์ และยังมีนวดแผนไทยอีกด้วย

ทวารบาลอันสวยแปลกตาที่วัดราชบพิธ
ต่อไปคือ "วัดราชบพิธ" วัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 พระอุโบสถสวยงามด้วยลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยด้านนอกและด้านในตกแต่ง แบบยุโรป ภายในประดิษฐานพระพุทธอังคีรส ภายใต้ฐานบรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสุสานหลวง และทวารบาลรูปทหารฝรั่งที่แปลกตากว่าวัดอื่นๆ

ถัดไปได้แก่ "วัดบวร" ที่สร้างด้วยศิลปะไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 2 องค์ด้วยกันคือ พระศรีศาสดา และพระพุทธชินสี ใต้ฐานพุทธบัลลังก์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 และจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง ด้านหลังพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์องค์ใหญ่หุ้มกระเบื้องสีทองอร่าม ตา

ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของ "วัดชนะสงคราม" ซึ่ง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้นบุด้วยดีบุกลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย นามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ

วัดต่อไปอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า ซึ่งก็คือ "วัดสุทัศน์" วัดประจำรัชกาลที่ 8 พระประธานภายในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญมีนามคล้องจองกันว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และพระพุทธเสรฏฐมุนี นอกจากนี้พระอุโบสถของวัดนับว่ายาวที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

วัดราชประดิษฐ์ วัดประจำรัชกาลที่ 4
ต่อมา "วัดราชประดิษฐ์" วัดประจำรัชกาลที่ 4 ภายในพระวิหารหลวงมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้วาดไว้ ภายในวัดยังมีสถาปัตยกรรมที่น่าชม เช่น ปาสาณเจดีย์, ปรางค์ขอม, หอพระจอม และหอไตร เป็นต้น

"วัดราชนัดดา" ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานพระนามว่า พระเสฏฐตมมุนี ส่วนพระวิหารมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า พระพุทธชุติธรรมนราสพ และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นก็คือโลหะปราสาทหนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวของโลกด้วยเนื่องจาก 2 แห่งแรกได้พังไปแล้วนั่นเอง

พระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่บนยอดโลหะปราสาทวัดราชนัดดา
วัดสุดท้ายคือ "วัดมหาธาตุ" ภายในมีพระระเบียงที่ล้อมรอบพระอุโบสถ พระวิหาร และพระมณฑปเอาไว้ โดยภายในพระอุโบสถใหญ่โตขนาดที่พระสงฆ์สามารถเข้าไปทำสังฆกรรมได้ถึง 1,000 รูปเลยทีเดียว สำหรับพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยนาม พระศรีสรรเพชญ์ ส่วนพระมณฑปภายในประดิษฐานพระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ ภายในวัดยังมีวิหารโพธิลังกา ซึ่งภายในประดิษฐาน "พระนาค" พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยไว้ด้วย

เมื่อเกาะกระแสเลข 9 กันแล้ว ก็ขอให้อานิสงฆ์ผลบุญได้รับความสุขทั้งกายและใจในวันที่ 9 เดือน9 ปี 2009
... สาธุ

No comments: