๑. ไม่ฆ่าสัตว์หรือไม่ทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
๒. ไม่ลักทรัพย์ คือไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยความเต็มใจ
๓. ไม่ทำชู้ในบุตรภรรยาและสามีของผู้อื่น
๔. ไม่พูดวาจาที่ไม่ตรงความเป็นจริง
๕. ไม่พูดวาจาหยาบคายให้สะเทือนใจผู้ฟัง
๖. ไม่พูดส่อเสียดยุให้รำตำให้รั่ว ทำให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน
๗. ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล
๘. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของเขาไม่ยกให้
๙. ไม่คิดประทุษร้ายใคร คือไม่จองล้างจองผลาญเพื่อทำร้ายใคร
๑๐. เชื่อพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านด้วยดี
อานิสงส์กรรมบถ ๑๐
ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ท่านเรียกชื่อเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเหมือนกัน คือ ท่านเรียกว่า สีลานุสสติกรรมฐาน หมายความว่าเป็น ผู้ทรงสมาธิในศีล
ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการได้นั้น มีอานิสงส์ดังนี้
๑. อานิสงส์ข้อที่หนึ่ง จะเกิดเป็นคนมีรูปสวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บรบกวน มีอายุยืนยาว ไม่อายุสั้นพลันตาย
๒. อานิสงส์ข้อที่สอง เกิดเป็นคนมีทรัพย์มาก ทรัพย์ไม่ถูกทำลายเพราะโจร ไฟไหม้ น้ำท่วม ลมพัด จะมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ขั้นมหาเศรษฐี
๓. อานิสงส์ข้อที่สาม เมื่อเกิดเป็นคนจะมีคนที่อยู่ในบังคับบัญชาเป็นคนดี ไม่ดื้อด้าน อยู่ภายในคำสั่งอย่างเคร่งครัด มีความสุขเพราะบริวาร และการไม่ดื่มสุราเมรัย เมื่อเกิดเป็นคนจะไม่มีโรคปวดศีรษะที่ร้ายแรง ไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่เป็นคนบ้าคลั่ง จะเป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
เรื่องของวาจา
๔. อานิสงส์ข้อที่สี่, ข้อห้า, ข้อหก, และข้อเจ็ด เมื่อเกิดเป็นคนจะเป็นคนปากหอม หรือมีเสียงทิพย์ คนที่ได้ยินเสียงท่านพูดเขาจะไม่อิ่มไม่เบื่อในเสียงของท่าน ถ้าเรียกตามสมัยปัจจุบันจะเรียกว่าคนมีเสียงเป็นเสน่ห์ก็คงไม่ผิด จะมีความเป็นอยู่ที่เป็นสุขและทรัพย์สินมหาศาลเพราะเสียง
เรื่องของใจ
๕. อานิสงส์ข้อที่แปด, ข้อเก้า, และข้อสิบ เป็นเรื่องของใจ คืออารมณ์คิด ถ้าเว้นจากการคิดลักขโมยเป็นต้น ไม่คิดจองล้างจองผลาญใคร เชื่อพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามคำสอนของท่านด้วยความเคารพ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์จะเป็นคนมีอารมณ์สงบและมีความสุขสบายทางใจ ความเดือดเนื้อร้อนใจในกรณีใดๆ ทุกประการจะไม่มีเลย มีแต่ความสุขใจอย่างเดียว
อานิสงส์รวม
เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์รวมแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานในขั้นนี้ ถึงแม้ว่าจะทรงสมาธิไม่ได้นานตามที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ นั้น ถ้าสามารถทรงกรรมบถ ๑๐ ประการได้ครบถ้วน ท่านกล่าวว่า เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป บาปที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยใดก็ตาม ไม่มีโอกาสนำไปลงโทษในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น อีกต่อไป
ถ้าบุญบารมีไม่มากกว่านี้ ตายจากคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อหมดบุญแล้วลงมาเกิดเป็นมนุษย์ จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น แต่ถ้าเร่งรัดการบำเพ็ญเพียรดี รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล ก็สามารถบรรลุมรรคผลเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้
แนะวิธีรักษากรรมบถ ๑๐
การที่จะทรงความดีเต็มระดับตามที่กล่าวมาให้ครบถ้วนให้ปฏิบัติตามนี้๑. คิดถึงความตายไว้ในขณะที่สมควร คือไม่ใช่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อตื่นขึ้นใหม่ๆ อารมณ์ใจยังเป็นสุข ก่อนที่จะเจริญภาวนาอย่างอื่น ให้คิดถึงความตายก่อน คิดว่าความตายอาจจะเข้ามาถึงเราในวันนี้ก็ได้ จะตายเมื่อไรก็ตามเราไม่ขอลงอบายภูมิ ที่เราจะไปคือ อย่างต่ำไปสวรรค์ อย่างกลางไปพรหม ถ้าไม่เกินวิสัยแล้ว ขอไปนิพพานแห่งเดียว คิดว่าไปนิพพานเป็นที่พอใจที่สุดของเรา
๒. คิดต่อไปว่าเมื่อความตายจะเข้ามาถึงเราจะเป็นในเวลาใดก็ตาม เราขอยึดพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต คือไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า ยอมเคารพด้วยศรัทธา คือความเชื่อถือในพระองค์ ขอให้ปฏิบัติตามคำสอน คือกรรมบถ ๑๐ ประการโดยเคร่งครัด ถ้าความตายเข้ามาถึงเมื่อไรขอไปนิพพานแห่งเดียว
เมื่อนึกถึงความตายแล้วตั้งใจเคารพ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวก แล้วตั้งใจนึกถึงกรรมบถ ๑๐ ประการว่ามีอะไรบ้าง ตั้งใจจำและพยายามปฏิบัติตามอย่าให้พลั้งพลาด คิดติดตามข้อปฏิบัติเสมอว่ามีอะไรบ้าง ตั้งใจไว้เลยว่าวันนี้เราจะไม่ยอมละเมิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งเป็นอันขาด เป็นธรรมดาอยู่เองการที่ระมัดระวังใหม่ๆ อาจจะมีการพลั้งพลาดพลั้งเผลอในระยะต้นๆ บ้างเป็นของธรรมดา แต่ถ้าตั้งใจระมัดระวังทุกๆ วัน ไม่นานนัก อย่างช้าไม่เกิน ๓ เดือน ก็สามารถรักษาได้ครบ มีอาการชินต่อการรักษาทุกสิกขาบท จะไม่มีการผิดพลาดโดยที่เจตนาเลย เมื่อใดท่านทรง
อารมณ์กรรมบถ ๑๐ ประการได้ โดยที่ไม่ต้องระวัง ก็ชื่อว่าท่านทรงสมาธิขั้น ขณิกสมาธิ ได้ครบถ้วน เมื่อตายท่านไปสวรรค์หรือพรหมโลกได้แน่นอน
ถ้าบารมีอ่อน เกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวไปนิพพานแน่ ถ้าขยันหมั่นเพียรใช้ปัญญาแบบเบาๆ ไม่เร่งรัดเกินไป รักษาอารมณ์ใจให้เป็นสุข ไม่เมาในร่างกายเราและร่างกายเขา ไม่ช้าก็บรรลุพระนิพพานได้แน่นอน เป็นอันว่าการปฏิบัติขั้นขณิกสมาธิจบเพียงเท่านี้
คัดจากหนังสือ "วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ" หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
No comments:
Post a Comment