1/30/2009
หลักธรรมะ10ประการ ชี้ความพอดีทำให้เกิดความสุขแท้จริง
อันนี้ก็ดีครับ เอามาฝากกันครับ หวังว่าคงจะชอบกันนะครับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้หลักธรรมะในการทรงงาน คือนำธรรมชาติที่อยู่รอบตัวไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด การประมงก็เช่นเดียวกัน เมื่อครั้งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เริ่มดำเนินการใหม่ๆ ท่านรับสั่งให้เลี้ยงกุ้ง สลับกับการเลี้ยงปลา เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่นั้นใช้สารเคมี และสารอาหารมาก จึงต้องเลี้ยงปลา ให้ปลากินเศษอาหารที่ตกค้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสารตกค้าง เป็นต้นกำเนิดให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจนถึงทุกวันนี้
ในการพัฒนาประเทศ ท่านยังพระราชทาน "หลักภูมิสังคม" ให้เคารพในภูมิประเทศ คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ทั้ง ดิน น้ำ ลม และไฟ เพราะ ภาคเหนือ ใต้ อีสาน กลาง มีภูมิประเทศที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถทำอะไรให้เหมือนกันได้ โครงการต่างๆ ของรัฐ มักล้มเหลว ก็เพราะนำหนึ่งโครงการไปใช้ทั่วประเทศ
ด้าน "สังคม" คือ ความแตกต่างกันของคน จะให้คนแต่ละภาคคิดและตัดสินใจ เหมือนกันเสมอไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเคารพ อย่านำความคิดของเราเป็นที่ตั้ง หลักเหล่านี้จึงเป็นที่มาของศูนย์ศึกษาการพัฒนา เพื่อใช้เป็นแบบจำลองการพัฒนาตามความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เป็นวันสต็อปเซอร์วิสของเกษตรกร
ดร.สุเมธ ยังได้อธิบายว่า ธรรมะอยู่รอบๆ ตัวเรา จึงขอพูดส่งท้ายปัญหาบ้านเมือง ที่ทะเลาะกันก็มาจากการ "ขาดธรรมาภิบาล" ก็คือธรรมะนั่นเอง จึงขอย้ำถึงหลักทศพิธราชธรรม 10 ประการ ความจริงแล้วเป็นธรรมะของนักบริหารที่ต้องยึดเอาไว้
ความหมายของคำว่า “บริหาร” เป็นคำที่ผ่านตามามากมาย แต่เพิ่งค้นพบความหมายที่แท้จริงเมื่อครั้งบวชที่วัดแห่งหนึ่ง ว่า “บริ” แปลว่า รอบๆ “หาระ“ แปลว่า ทำให้จร หรือทัศนา เมื่อมารวมกันจึงมีความหมายว่า ทำให้ของที่อยู่รอบๆ เคลื่อนไปข้างหน้า ดังนั้น "นักบริหาร" จึงมีหน้าที่ที่ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไปข้างหน้า
หลักธรรมะ 10 ข้อ ของ พระเจ้าแผ่นดิน สามารถนำไปใช้ได้ทุกคน หากตั้งใจปฏิบัติจริงแล้วจะได้รับความสุขในชีวิต ประกอบด้วย
1.ทาน หรือการรู้จักให้โดยไม่หวังผลตอบแทน หากทุกคนทำได้โลกก็จะมีแต่ความสุข แต่ทุกวันนี้สังคมมีแต่จะเอา เลยทำให้เกิดปัญหามากมาย
2. ศีล คือ การยึดมั่นในศีล 5 ข้อ
3. การบริจาค หรือการให้ของเล็ก เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า เช่น บริจาคเพื่อสร้างโรงเรียน หรือโรงพยาบาล เป็นต้น
4.อาชชะวะ หรือความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเรื่องนี้ ขอย้ำว่า ใครที่คิดจะทุจริตคอร์รัปชัน ให้ถือว่ากระทำต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ใครทุจริตต้องมีอันเป็นไปแน่นอน และขอให้ยึดคำว่า "รู้จักพอ"
5. มัททะวัง หรือความเรียบร้อย สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งนำมาใช้ในชีวิตข้าราชการได้ โดยข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ให้มองสูง คอยมองนายว่ามีนโยบายอย่างไร ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้มองต่ำ
6. ตะปัง หรือความมีเจตนาอย่างแรงกล้า ที่จะปฏิบัติในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
7. อักโกธะ หรือความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ
8. อวิหิสัญจะ คือ ความไม่เบียดเบียน ซึ่งเรื่องนี้ขอยกคำพระท่านหนึ่งที่บอกไว้ว่า "คนสมัยนี้ มองแคบ คิดสั้น ใฝ่ต่ำ" คือ คิดแต่วัตถุ ความร่ำรวย "รวยมากก็เกิดทุกข์ได้อย่างที่เราเห็นกันอยู่ เพราะฉะนั้นหากรวยมากก็ต้องควบคุมความรวย แต่จนมากก็ไม่ดี เอาพอดี พอดี “
ส่วนข้อ 9. ขันติ คือ ความอดทน เพราะชีวิตไม่ใช่ของง่าย 10.อะวิโรธะนัง คือ ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้หมายถึงถูกกฎระเบียบอย่างเดียว แต่หมายถึงถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วย
"ทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งให้ออก อีกฝ่ายไม่ออก ก็ขอให้คิดถึงสุภาษิตจีน ที่ว่า คนพันคนชี้หน้าใส่ ไม่เจ็บก็ถึงตาย เก้าอี้ใด ตำแหน่งใด ไม่มีเกียรติด้วยตัวมันเอง แต่คนต่างหากที่จะทำให้ตำแหน่ง หรือเก้าอี้มีเกียรติยศ “
ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย ว่า ข้าราชการมักถามถึงความหมาย ของคำว่า "พระเดชและพระคุณ" จึงขอย้ำให้จำไว้ว่า พระเดช ไม่ใช่ของเรา แต่ผูกติดอยู่กับตำแหน่ง เมื่อเราออกจากตำแหน่งก็ไม่ได้ติดไปกับเราด้วย แต่สิ่งที่จะเป็นของเราคือ "พระคุณ" ที่เป็นสมบัติส่วนตัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนไว้ว่า "ใครผู้ใดใน ชีวิตไม่เคยถูกทุบ ถูกเผา ทำงานใหญ่ให้แผ่นดินไม่ได้ เหมือนกับเหล็กที่ถูกเผาจนร้อน และถูกตีหลายครั้งหลายหน จนกลายเป็นมีดดาบที่มีราคาแพง"
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2549.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment